ถ้าเรามีเงินอยู่ 10 บาท ซื้อของ 3 บาท จะได้รับเงินทอนเท่าไร?
ครูคนหนึ่งตั้งคำถามกับเด็กว่า ‘ถ้ามีเงินอยู่ 10 บาท ซื้อของ 3 บาท จะได้รับเงินทอนเท่าไร’ เด็กส่วนใหญ่ตอบว่า ‘7 บาท’
แต่มีเด็ก 2คนที่ตอบไม่เหมือนกับคนอื่น คนหนึ่งตอบว่า ‘2 บาท’ อีกคนหนึ่งตอบว่า ‘ไม่ต้องทอน’
ครูถามเด็กคนแรกว่าทำไมถึงได้เงินทอน 2 บาท คำตอบที่ได้ก็คือภาพในใจของเขาสำหรับเงิน 10 บาท คือ เหรียญห้า 2 เหรียญ เมื่อซื้อของราคา 3 บาท เขาก็ให้เหรียญห้า 1 เหรียญ ดังนั้น จึงได้เงินทอน 2 บาท
ถามเด็กคนที่สองว่าทำไมไม่เหลือเงินทอนเลย
คำตอบก็คือเด็กคนนี้คิดว่าในกระเป๋ามีเหรียญบาท 10 เหรียญ เมื่อซื้อของราคา 3 บาท เขาก็ส่งเหรียญบาทให้ 3 เหรียญ เพราะฉะนั้น คนขายจึงไม่ต้องทอนเงินให้เขา
โชคดีที่เป็นการถาม-ตอบในห้องเรียน ลองนึกดูสิครับว่าถ้าโจทย์นี้เป็นข้อสอบที่มีคำตอบเป็น ก-ข-ค-ง เด็ก 2 คนนี้ก็คงไม่ได้คะแนนจากคำตอบที่ผิดเพี้ยนจากคนส่วนใหญ่
การสร้างโจทย์ที่ ‘เสมือนจริง’ จินตนาการของ ‘ครู’ อาจถูกจำกัดเพียงแค่ ‘ตัวเลข’ แต่สำหรับเด็ก จินตนาการของเขาไร้กรอบ 10 บาท จึงสามารถเปลี่ยนเป็นเหรียญสิบ เหรียญห้า หรือเหรียญบาท
เมืองไทยมีเหรียญ 2 บาท เราจึงได้คำตอบเพิ่มอีก 1 คำตอบ คือ ได้เงินทอน 1 บาท
โลกในห้องเรียนกับโลกของความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน โลกในห้องเรียน ทุกคำถามส่วนใหญ่มีเพียง 1 คำตอบ แต่โลกของความเป็นจริง ทุกคำถามอาจมีคำตอบที่ถูกต้องได้เกิน 1 คำตอบ
‘อย่ารีบตัดสินความผิดถูกของคนๆ นั้น เพียงแค่ คำตอบ ของเรา’
อย่าหยุดความคิดสร้างสรรค์ของคนๆ นั้น ด้วยกรอบความคิดของเรา