จงมองด้วย “ตา” แล้วปล่อยให้“ปัญญา” เป็นผู้วินิจฉัย
วันหนึ่ง ขงจื๊อ เมธีจีน พร้อมศิษยานุศิษย์เดินทางรอนแรมลี้ภัยการเมืองอยู่กลางป่าพอได้เวลาอาหารลูกศิษย์เตรียมตักข้าวใส่จานพร้อมสำรับอาหาร ขณะกำลังตักข้าวอยู่ห่างๆนั้นท่านขงจื๊อ สังเกตเห็นว่าลูกศิษย์หยิบข้าวจากจานของท่านขึ้นมาใส่ปากเคี้ยว ท่านจึงสอนและชี้ให้เห็นว่า
การหยิบอาหารจากสำรับของครูบาอาจารย์มารับประทานก่อนได้รับอนุญาต นั้น แสดงถึงความ “อนารยะ” ที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง
ลูกศิษย์จึงขอโอกาสชี้แจง“อาจารย์ครับ ที่กระผมหยิบข้าวจากจานของ อาจารย์ขึ้นมารับประทานก่อนหาใช่กระทำไปด้วยความเขลาหรือขาดคารวะก็หาไม่แต่ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในจานข้าวของอาจารย์มี ผงถ่านสีดำปนเปื้อนข้าวอยู่ครั้นจะยกมาให้อาจารย์เลยก็เกรงว่าคงไม่ เหมาะ จะหยิบข้าวที่เปื้อนนั้นทิ้งก็เสียดาย เพราะข้าวหายากและจำเป็นมากสำหรับการอยู่รอดในยามวิกฤติ กระผมก็เลยหยิบข้าวที่เปื้อนนั้นขึ้นมารับประทานเสียเองขอรับ”
แววตาที่ฉายแววดุของผู้เป็นอาจารย์ ค่อยๆ ทอประกายอ่อนโยนด้วยเมตตา
ก่อนเอ่ยวาจาขอโทษผู้เป็นศิษย์อย่างไม่ถือตัว
บ่อยครั้งที่เรามักตัดสินอะไรผิดพลาดอย่างง่ายดายจนเสียทั้งคน
เสียทั้งงาน และบางทีก็เสียผู้เสียคนเสียเกียรติภูมิที่สู้สั่งสมมาทั้งชีวิตในชั่วพริบตาเพียงเพราะเราเชื่อในสิ่งที่สายตารายงาน ขณะที่บาง
ด้านของความจริงกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง สามีทะเลาะกับภรรยา
พ่อแม่ทะเลาะกับลูก นายเข้าใจผิดลูกน้อง เพื่อนแตกจากเพื่อนคนรักหันหลังให้กันทั้งที่ต่างฝ่ายก็แสนดี
เพียงเพราะต่างก็เชื่อใน“สิ่งที่ตาเห็น” แต่ละเลยการ “เมียงมอง”
อย่างพินิจแยบคายโดยใช้ “ปัญญาจักษุ” อันสุขุม
เราจึงติดอยู่ใน “ภาพลวงตา” อันเป็นมายาคติ พลอยทำให้หลงลืม
“ความจริง” ที่เป็นจริงอีกด้าน หนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย
จงมองด้วย “ตา” แล้วปล่อยให้ “ปัญญา” เป็นผู้วินิจฉัย
สิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่ปัญญาประจักษ์ไม่แน่ว่าจะสอดคล้องกันเสมอไป
จงใช้ตานอกสำหรับ “ดู” แล้วจงใช้ตาในสำหรับการ“เห็น”