สวัสดีครับ
สัปดาห์ละครั้ง อาทิตย์ที่ 8 ก.ย. 2013
“วิถีชุมชนวัด” คืออะไร? ทำอะไร? ทำอย่างไร? เป็นกลุ่มใหม่หรือเปล่า?
เราเคยได้ยินเรื่อง “วิถีชุมชนวัด” กันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย หลายท่านก็มีความรู้เข้าใจเป็นอย่างดี มีหลายท่านเมื่อได้ยินแล้วก็เฉยๆ เข้าใจว่าเป็นคำเทศน์ คำเตือน คำชี้แนะให้มีความรักความสามัคคี รู้จักช่วยเหลือกันและกัน ดังที่พระวรสารได้กล่าวไว้ ซึ่งก็เป็นเพียงความรู้ที่อยู่ในสมอง เหมือนความรู้ทั้งหลาย
มีบางคนสนใจอย่างจริงจัง ศึกษาและทดลองฝึกปฏิบัติ ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีไม่มากนัก แต่ก็ดูเหมือนว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้จึงอยากจะนำเรื่องนี้มากล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยขอนำมาจากข้อมูลทางเว็บไซต์ของอัครสังฆมณฑลเกี่ยวกับเรื่องนี้… ดังนี้…
วิถีชุมชนวัด คืออะไรกันแน่? เป็นกลุ่มที่ทำอะไร? เป็นกลุ่มองค์กรพิเศษหรือเปล่า? เป็นกลุ่มใหม่หรือเปล่า? พูดกันหลากหลายเหลือเกิน เป็นอะไรกันแน่
คำตอบ วิถีชุมชนวัด คือ การเป็นชุมชนวัดที่ประกอบด้วยชุมชนคริสตชนย่อยๆ ที่มีความสัมพันธ์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นการกลับสู่วิถีชุมชนของยุคอัครสาวก ที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางในชุมชน และเป็นชุมชนที่สมาชิกมีความรักซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือแบ่งปันกัน จนกระทั่งสามารถ เป็นแทนประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าแก่ทุกคนรอบข้าง
ที่ผ่านมาเราได้ยินชื่อ “กลุ่ม BEC” กันจนคุ้นหู เป็นชื่อย่อจาก “Basic Ecclesial Communities” ซึ่งหมายถึงชุมชนคริสตชนย่อย หรือชุมชนคริสตชนพื้นฐาน เพราะเป็นส่วนย่อยของชุมชนวัด ปัจจุบันเราตกลงเลือกใช้คำว่า “วิถีชุมชนวัด” เราพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “กลุ่ม” กับชุมชนคริสตชนย่อย เพราะชุมชนคริสตชนย่อยไม่ใช่ “กลุ่มใหม่” แต่เป็นวิถีชีวิตที่มาพร้อมกับการเป็นคริสตชนในศีลล้างบาป ดังนั้น คริสตชนทุกคนมีส่วนเป็นชุมชนคริสตชนย่อยอยู่แล้ว โดยไม่ต้องสมัคร และก็ลาออกไม่ได้เช่นกัน
ในภาคปฏิบัติมีเครื่องหมายสี่ประการเป็นการบ่งชี้ถึงวิถีชุมชนวัดที่เป็นรูปธรรมตามแนวทางของพระศาสนจักร คือ
1. จำนวนสมาชิกในกลุ่มย่อยเริ่มจากประมาณ 5-15ครอบครัว เป็นเพื่อนบ้านกัน หรืออยู่ในละแวกเดียวกัน
2. กิจกรรมสำคัญคือการแบ่งปันพระวาจาเป็นพื้นฐานของการพบปะกัน
3. การแสดงออกและทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันของชุมชนคริสตชนย่อยนั้นมาจากความเชื่อ
4. ชุมชนคริสตชนย่อยต้องเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรสากลและต้องขึ้นกับวัดที่ตนสังกัด
สรุปได้ว่า วิถีชุมชนวัดคือชุมชนคริสตชนย่อยๆ ของชุมชนในวัดมารวมตัวกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระเยซูคริสตเจ้า มีการร่วมกันอ่านพระวาจา ไตร่ตรอง แบ่งปันประสบการณ์ ภาวนา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพบปะและหล่อเลี้ยงชีวิตของสมาชิก โดยมีจุดประสงค์เพื่อประกอบกิจการแห่งความรักซึ่งกันและกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กำหนดกิจกรรมแห่งความดีที่จะปฏิบัติร่วมกัน เช่น เยี่ยมคนป่วย ให้ความช่วยเหลือคนยากจนในกลุ่มย่อยของตนฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมชีวิตจิตของสมาชิก เช่น การนำพระวาจาที่แบ่งปันมาเป็นข้อตั้งใจในการดำเนินชีวิตร่วมกัน ฯลฯ อย่างไรก็ดี กิจการต่างๆ เหล่านี้กระทำโดยเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนวัดที่ตนสังกัด…..สวัสดีครับ….