ครอบครัวจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ละคนในบ้านต้องศักดิ์สิทธิ์
แนวคิดข้างบนนำไปใช้ได้ทั้งในระดับครอบครัวเล็กและในระดับครอบครัวใหญ่
ความศักดิ์สิทธิ์ต้องเริ่มต้นจากความสำนึกรู้ตัวส่วนบุคคล คือ สำนึกรู้ตัวว่า ตัวเองเป็นใครและสำนึกที่ 2 คือ รู้ตัวเองว่า ตัวเองต้องทำอะไรตามฐานะที่ตัวเองเป็น
บทอ่านที่1 และ 2 เน้นย้ำถึงความจริงประการนี้
เมื่อคนๆหนึ่งสำนึกรู้ตัวว่าตัวเองเป็นใคร และตัวเองต้องทำอะไรแล้ว ก็ต้องดำเนินชีวิตไปตามจิตสำนึกนั้น ไม่ทำตัวเป็น นกหลงฟ้า ปลาหลงน้ำ
นกที่หลงฟ้า และปลาที่หลงน้ำ วันหนึ่งก็จะมาถึงจุดจบก็คือ หายนะของตัวเอง
บทอ่านที่ 1 เตือนบรรดาลูกๆทั้งหลายให้สำนึกว่าตัวเองเป็นใคร และตัวเองจะต้องทำอะไร แต่ให้สังเกต ไม่มีคำเตือนถึงพ่อแม่ในบทอ่านที่ 1 นี้ มีแต่คำเตือนถึงลูกๆเท่านั้น แต่ถ้าพ่อแม่ฉลาด เวลาอ่านคำเตือนของลูกๆ พ่อแม่เองก็จะต้องเกิดจิตสำนึก ว่าเมื่อตัวเองจะต้องได้รับความเคารพรักจากลูกๆตามคำเตือนของบทอ่านแล้ว ตัวเองที่เป็นพ่อเป็นแม่ควรจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไร เพื่อให้ตัวเป็นที่เคารพจากลูกๆ
ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ต้องเริ่มต้นด้วยความสำนึกรู้ตัว และจากนั้นต้องปฏิบัติตัวเองให้เหมาะสมตามความสำนึกรู้ตัวนั้น
บทอ่านที่ 2 ท่านนักบุญเปาโลเตือน เรื่องการที่เราแต่ละคนเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกสรร ดูเหมือนท่านจะตกคำไปหนึ่งคำคือคำว่า “ให้” ดังนั้นประโยคเต็มๆก็คือ เราแต่ละคน (คริสตชน) เป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรให้ เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และให้เป็นที่รักของพระองค์
คิดต่อได้ก็คือ ก่อนที่จะได้รับการเลือกสรร เราแต่ละคนคงเป็นเหมือนเด็กจรจัดเด็กข้างทาง สกปรก แต่งตัวปอนๆ เสื้อผ้าขาดวิ่น มีกลิ่นเหม็น น่าขยะแขยง แต่พระเป็นเจ้าก็เก็บมาเลี้ยงดู และนี่คือกำพืด แท้ๆของเราแต่ละคน แต่หลายคนก็ลืมตัวในเรื่องนี้ คือ ลืมกำพืดของตัวเอง อดีตของเราคือ คนบาปอดีตของเราคือ เป็นทาสของปีศาจ และแม้ว่าเราได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าด้วยพระเมตตาของพระองค์แล้วก็ตาม คราบแห่งบาปและคราบแห่งการเป็นทาสของปีศาจก็ใช่ว่าจะหลุดไปจากตัวเรา มันยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิตของเรา หรือไม่ เราก็ยังพาตัวเอง กลับไปสู่ความเป็นทาสของบาปและปีศาจนั้น ชีวิตของเราที่ได้รับเลือกสรรยังไม่หมดจด ยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ ดังพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า สิ่งนี้เราจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด
ส่วนพระวรสารที่บังเอิญไม่ได้เป็นพระวรสารประจำวันนี้ แต่เป็นพระวรสารที่เราคุ้นหู คือพระวรสารช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้า พระกุมารน้อยเจริญวัยมีอายุ 12 ขวบ และต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจตามข้อกำหนดที่พระวิหารเยรูซาแลม แต่กลับหายตัวไปในช่วงเวลาเดินทางกลับซึ่งเราจะหาอ่านได้ในพระวรสารนักบุญลูกา บทที่ 2 ข้อ 41-52 บทพระวรสารนี้ เช่นกัน ได้แสดงให้เห็นถึงบุคคลที่สำนึกในฐานะและบทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างเด่นชัด ในภาพที่ปรากฏของพระนางมารีย์กับท่านโยเซฟทั้ง 2 ท่านรู้ว่าตัวเองเป็นใคร และจะต้องทำอะไร ท่านทั้ง 2 รู้ว่าท่านต้องทำอะไร เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นกับลูกน้อย ท่านโยเซฟ แม้ไม่ใช่บิดาแท้ๆ แต่เมื่อท่านได้รับมอบภารกิจ ความเป็นบิดา ที่ท่านได้รับมาจากพระเป็นเจ้า ท่านก็พร้อมจะทุ่มเทชีวิต ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายประหนึ่งเป็นบิดาเป็นบิดาแท้ๆ ทั้ง 2 พอทราบว่าลูกหายไปก็ตัดสินใจเดินทางกลับไปตามหาลูก ทั้งพ่อทั้งแม่ ไม่มีการเกี่ยงงอนกันว่าเธอไป ฉันอยู่ แต่ไปพร้อมๆกันทั้งพ่อและแม่ ท่านทั้ง 2 ยอมทิ้งงานยอมทิ้งรายได้ที่จะได้รับ ลูกสำคัญกว่าเงิน
ส่วนพระเยซูกุมาร แม้เป็นองค์พระเป็นเจ้าสูงสุด แต่เมื่อยอมมาเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์ก็สำนึกในฐานะว่า เมื่อทรงเป็นมนุษย์ และเป็นลูกของพ่อแม่พระองค์จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อพ่อแม่นั้น “พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดา และเชื่อฟังท่านทั้งสอง…..” (ลูกา 2:51)
ทั้งหมดคือแนวทางไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์แต่ละคนสำนึกในสถานะภาพของตัวเอง และปฏิบัติตนทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ตามสถานะภาพนั้น