สมโภชพระคริสตแสดงองค์
วันสมโภชพระคริสตแสดงองค์ (the Epiphany of the Lord) (ภาษากรีก : epiphaneia หรือ theophaneia แปลว่า “การปรากฏ หรือ การแสดงพระองค์ของพระเจ้า) เป็นวันฉลองแรกเริ่มถึงการบังเกิดของพระเยซูเจ้าของพระศาสนจักรตะวันออก ในสมัยโบราณคำว่า “epiphany” หมายถึงการปรากฏองค์ของเทพเจ้าให้มนุษย์ได้เห็น หรือ การเยี่ยมเยียนอย่างสง่าของผู้ปกครองซึ่งได้รับการเคารพนับถือเฉกเช่นเทพเจ้ายังอาณาจักรที่เขาปกครอง
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดซึ่งเกี่ยวข้องกับวันฉลองนี้ มาจากงานเขียนของนักบุญเคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรียซึ่งเขียนในตอนต้นศตวรรษที่ 3 ว่า ผู้ที่ติดตามบาสิลิแดส (Basilides) ซึ่งเป็นพวก Gnostic ฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงบังเกิดมาในโลกอย่างแท้จริง ( พวกเขาเชื่อว่าการรับเอากายของพระวจนาตถ์ในธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้น เมื่อพระองค์ทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดน) เป็นไปได้ว่าวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ในพระศาสนจักรตะวันออก เป็นปฏิกิริยาที่ต่อต้านวันฉลองของพวก Gnostic โดยพระศาสนจักรตะวันออกเน้นการฉลองไปที่การบังเกิดของพระเยซูเจ้า
การที่พระศาสนจักรตะวันออกสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ในวันที่ 6 มกราคม เชื่อว่าน่าจะเป็นการฉลองเพื่อทดแทนการฉลองวันเกิดของเทพเจ้า Aion (เทพเจ้าแห่งเวลาและนิรันดร) ที่เมืองอเล็กซานเ ดรีย อียิปต์ ซึ่งฉลองระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม ในระยะแรกพระศาสนจักรตะวันออกฉลองทั้งการบังเกิดและการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าในวันนี้ และถือเป็นวันสำคัญที่จะประกอบพิธีศีลล้างบาป นอกจากนั้น วันฉลองนี้ยังระลึกถึงอัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซูเจ้าที่เมืองคานา ซึ่งพระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นเหล้าองุ่น อันเป็นการเผยแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ (เทียบ ยน 2:11) การระลึกถึงอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้าประการนี้ อาจ จะเป็นเรื่องราวที่ทดแทนตำนานของคนต่างศาสนา ซึ่งเล่าว่าในคืนวันที่ 6 มกราคม บ่อน้ำพุจำนวนมากจะไหลออกมาเป็นน้ำองุ่นแทนที่จะเป็นน้ำบริสุทธิ์
กลางศตวรรษที่ 4 พระศาสนจักรตะวันออกเริ่มฉลองวันที่ 25 ธันวาคม เป็นการฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าและการนมัสการของโหราจารย์ และวันที่ 6 มกราคม ยังคงเป็นการฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างและอัศจรรย์ที่เมืองคานา โดยมีพิธีโปรดศีลล้างบาปแก่คริสตชนใหม่ ในขณะที่พระศาสนจักรตะวันตกสมโภชพระคริสต์แสดงองค์โดยเชื่อมโยงกับการมานมัสการของโหราจารย์ในวันที่ 6 มกราคม
J.A. Jungmann ได้กล่าวว่า “ธรรมล้ำลึกแห่งการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้าถูกเน้นทั้งใน วันพระคริสตสมภพและวันพระคริสต์แสดงองค์ ดังนี้ คือ วันพระคริสตสมภพเน้นที่การเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์อย่างยากจนของบุตรพระเจ้า ขณะที่วันพระคริสต์แสดงองค์เน้นที่องค์พระบุตรของพระเจ้าได้แสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แก่โลก” การเรียกวันสมโภชนี้ว่าวันฉลองพญาสามองค์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะวันสมโภชนี้ไม่ได้จัด อยู่ในวันฉลองนักบุญ แต่เป็นวันฉลองของพระเยซูเจ้า (การแสดงพระองค์ต่อโลก)
พระวรสารบันทึกไว้เพียงว่ามีโหราจารย์จากทิศตะวันออกมานมัสการพระเยซูเจ้า (มธ 2:1-12) แต่ไม่ได้บอกว่ามีกี่คน ออริเจน (Origen) เป็นคนแรกที่ระบุว่ามีโหราจารย์ 3 ท่าน ซึ่งท่านอาจจะสันนิษฐานจากของขวัญ 3 ชิ้น ที่โหราจารย์นำมาถวายแด่พระองค์ Caesarius แห่ง Arles ในศตวรรษที่ 6 ได้บอกว่าผู้ที่มานมัสการพระเยซูเจ้าทั้ง 3 ท่านเป็นกษัตริย์ ในศตวรรษที่ 9 ได้ระบุด้วยว่าทั้งสามท่านมีชื่อว่า Caspar, Melchoir และ Balthazar
ตอนปลายสมัยกลางมีธรรมเนียมการเสกบ้านในวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ โดยใช้น้ำเสกและกำยานและมีธรรมเนียมเขียนอักษร C M B ที่ประตูบ้าน ซึ่งหนังสือจารีตโรมันในสมัยนั้นอธิบายว่าตัวอักษรเหล่านี้เป็นชื่อย่อของโหราจารย์ทั้งสาม แต่ยังมีการตีความอีกแบบหนึ่งว่า อักษรทั้งสามเป็นตัวย่อของคำในภาษาละตินว่า “Christus mansionem benedicat” ซึ่งแปลว่า “ขอพระคริสตเจ้าทรงอวยพรที่อยู่อาศัย”
มิสซาของวันสมโภชนี้เน้นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ และพระผู้ช่วยให้รอดของมนุษย์ทุกคนในโลก ซึ่งเราพบได้ในบทอ่านจากพระวรสาร (มธ 2:1-12)
การมาเข้าเฝ้าพระเยซูเจ้าของโหราจารย์เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้คำทำนายของประกาศกอิสยาห์ ในบทอ่านที่ 1 สำเร็จไป (อสย. 60:1-6) “เยรูซาเล็มเอ๋ย จงลุกขึ้นฉายแสง เพราะว่าความสว่าง
ของเจ้ามาแล้ว และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าขึ้นมาเหนือเจ้า… บรรดาประชาชาติจะมายังความสว่างของเจ้า และพระราชาทั้งหลายมาสู่ความสดใสของเจ้า” ความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้สำหรับนานาชาติในเยรูซาเล็มใหม่ (เป็นคำเปรียบเทียบ หมายถึงพระศาสนจักร) ได้ถูกกล่าวถึงในบทอ่านที่ 2 (อฟ 3:2-6) “คนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกองมรดกเดียวกัน ร่วมเป็นกายเดียวกัน ร่วมรับพระสัญญาเดียวกันในพระคริสตเยซูอาศัยข่าวดี”
เพลงเริ่มพิธีให้ภาพการเสด็จมาและการปกครองในฐานะกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า “พระผู้ทรงเป็นเจ้าปกครองเสด็จมาแล้ว”ชุมนุมคริสตชนผู้มาร่วมพิธีมิสซาร่วมใจกับโหราจารย์จากทิศตะวันออกที่มานมัสการพระเยซูเจ้าในบทเพลงอัลเลลูยา และบทเพลงรับศีลว่า “พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์”
ในบทนำขอบพระคุณของวันสมโภชนี้กล่าวถึง พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้กอบกู้โลกและแสงสว่างส่องนานาชาติ “วันนี้ พระองค์ทรงเผยแสดงให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแผนการกอบกู้มนุษยชาติ ในองค์พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นความสว่างส่องนานาชาติ เมื่อพระองค์ท่านทรงแสดงองค์ในรูปมนุษย์ผู้รู้ตาย ก็ทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้รับชีวิตมิรู้ตาย” ในบทแทรกของวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ในบทขอบพระคุณ (บทเสกศีล) แบบที่ หนึ่งทำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างวันสมโภชพระคริสตสมภพกับวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์อย่างชัดเจน “ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมใจกันเฉลิมฉลองวันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ที่พระบุตร พระองค์เดียวซึ่งร่วมพระสิริรุ่งโรจน์กับพระองค์ตั้งแต่นิรันดร ทรงปรากฏเป็นมนุษย์ในร่างกายที่แลเห็นได้แท้จริง” สำหรับพระศาสนจักรในประเทศไทย เราไม่ได้สมโภชพระคริสต์แสดงองค์ตรงวัน วันสมโภชนี้ถูกเลื่อนไปฉลองในวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2-8 มกราคม
ข้อสังเกต ถ้าวันสมโภชนี้ฉลองหลังวันที่ 6 มกราคม วันฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างในปีนั้นจะถูกเลื่อนไปฉลองในวันจันทร์ถัดจากวันสมโภชพระคริสตแสดงองค์