MENO/อยู่
“….เขาจึงไปดู เห็นที่ประทับของพระองค์ และพักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น….” (ยอห์น 1:39)
พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นทำงานหลังจากรับพิธีล้างจากยอห์น และงานแรกที่พระองค์ทำก็คือ การเรียกศิษย์กลุ่มแรก ศิษย์ 2 ท่าน ที่ยอห์นแนะนำให้ติดตามพระเยซูเจ้า เป็นใครไม่ได้ระบุ แต่มาชัดเจนในภายหลังในบันทึกของพระวรสารวันนี้เช่นเดียวกัน ในข้อที่ 40 ที่ระบุว่า “อันดรูน์น้องชายของซีโมนเปโตร เป็นคนหนึ่งใน 2 คนที่ได้ยินคำพูดของยอห์น…..”
ศิษย์ 2 คนแรกนั้นพอได้ยินคำแนะนำของยอห์น ก็เริ่มต้นติดตามพระเยซูเจ้าไป
พอพระเยซูเจ้าเห็นเขาทั้ง 2 จึงถามว่า “ท่านต้องการอะไร?” หรือ “ท่านแสวงหาอะไร?” ทั้ง 2 คนตอบพระองค์ไปว่า “รับบี หรือ อาจารย์”
จากนั้นทั้ง 2 คน ก็ถามพระองค์ต่อว่า “พระองค์พักอยู่ที่ไหน?” พระเยซูเจ้าก็ตอบไปว่า “ตามมาดูเอง” และทั้ง 2 คนก็ตามพระองค์ไป ได้เห็นที่พักของพระองค์และก็ได้พักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น และพวกเขาก็อยู่กับพระองค์ต่อไปเรื่อยๆจนจบชีวิต
นี่คือกระแสเรียกที่ศิษย์ทั้ง 2 ได้รับ เป็นแบบฉบับของกระแสเรียกของพวกเราทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ของพระองค์ทั้ง พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส
ทั้ง 2 ได้เห็นที่ประทับของพระองค์ ไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่า ที่ประทับ หรือที่อยู่ของพระเยซูเจ้านั้นเป็นอย่างไร เวลาใช้คำว่าที่ประทับ คำคำนี้เป็นคำหรู ที่ประทับ เป็นคำที่บ่งบอกถึงความเป็นเจ้า เพราะฉะนั้นมันคงจะต้องหรูหรา น่าอยู่ แต่ในความเป็นจริงสำหรับพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงทำงาน แบบค่ำไหนนอนนั่น ถ้าไม่มีที่พักจริงๆ ก็คงนอนตามศาลาข้างทาง หรือ ตามถ้ำตามหุบเขา พระองค์ทรงทำตัวเป็นเจ้าไม่มีศาล ทรงใช้ชีวิตแบบตามมีตามเกิด มีกินก็กิน ไม่มีกินก็อด
ศิษย์ทั้ง 2 ได้เห็นที่อยู่ของพระองค์ รวมทั้งได้เห็นสภาพชีวิตของพระองค์ แต่ก็ได้ตัดสินใจอยู่กับพระเยซูเจ้า
คำว่าอยู่ที่จั่วหัวไว้ข้างบน เป็นคำภาษากรีก MENO นักบุญยอห์นผู้เขียนพระวรสารเป็นผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรก ในงานเขียนของยอห์น 66 ครั้ง ในพระวรสารยอห์น 40 ครั้ง ในจดหมายของท่านฉบับที่ 1 23 ครั้ง และในจดหมายฉบับที่ 2 ของท่านมี 3 ครั้ง คำคำนี้ (MENO) หมายถึง ที่อยู่อาศัย แต่ในใจของยอห์นท่านให้ความหมายที่ลึกกว่านั้น สำหรับยอห์นผู้เขียนพระวรสาร คำว่า อยู่ หมายถึง สถานภาพ สภาพ หรือ การดำรงอยู่
ศิษย์ทั้ง 2 ตัดสินใจพักอยู่กับพระเยซูเจ้า คือศิษย์ทั้ง 2 ตัดสินใจว่า “ต่อไปนี้ฉันจะดำเนินชีวิตให้เหมือนกับพระเยซูเจ้า” หรือ “ต่อไปนี้ฉันจะดำเนินชีวิตให้มีสภาพเดียวกับพระเยซูเจ้า” ก็คือ กินอยู่อย่างพระเยซูเจ้า ใช้ชีวิตแบบตามมีตามเกิด ยากจน ติดดิน สุภาพ ถ่อมตน ยอมให้ชีวิตถูกย่ำยีโดยผู้อื่น รวมทั้งยอมรับความอยุติธรรมมาแบกไว้ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้งานไถ่กู้บรรลุผลสำเร็จ
นี่คือการเริ่มต้นความเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้า
– ในแผนอภิบาล 2010-2015 ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย
– ในแผนอภิบาล 2011-2015 ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
– ในเอกสารเพื่อการไตร่ตรองเตรียมประชุมสมัชชาใหญ่ ค.ศ. 2015 ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
– รวมทั้งเอกสารเพื่อประกอบการประชุมสมัชชาใหญ่ (Instrumentum Laboris) ครั้งที่ 1 ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ค.ศ. 2015
ไม่มีสักฉบับเดียวที่จะไม่ใช้คำว่า “ศิษย์พระคริสต์” และเป็นต้นใน บทที่ 2 ของเอกสารประกอบการประชุมสมัชชาใหญ่ ปรากฏตัวบทเป็นดังนี้
บทที่ 2 “ความเชื่อในพระคริสตเจ้า” คือ “การพบปะและมีประสบการณ์กับพระคริสตเจ้า” จนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นเหมือนพระคริสตเจ้า เป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าปรากฏชัด……….13
ศิษย์พระคริสต์แท้ ต้องอยู่กับพระเยซูเจ้า หรือ ศิษย์พระคริสตเจ้าแท้ต้องอยู่ในพระเยซูเจ้า มีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์ เพราะคำว่า อยู่ มีความหมายถึงการมีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังปรากฏในพระวรสารยอห์น บทที่ 15 ข้อ 4 ถึง 7 ดังต่อไปนี้ ท่านทั้งหลายจงดำรงอยู่ในเราเถิด ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน กิ่งองุ่นเกิดผลด้วยตนเองไม่ได้ ถ้าไม่ติดอยู่กับเถาองุ่นฉันใด ท่านทั้งหลายก็จะเกิดผลไม่ได้ ถ้าไม่ดำรงอยู่ในเราฉันนั้น เราเป็นเถาองุ่นท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้านผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าผู้ใดไม่ดำรงอยู่ในเรา ก็จะถูกโยนทิ้งไปข้างนอก เหมือนกิ่งก้าน และจะเหี่ยวแห้งไป กิ่งก้านเหล่านั้นจะถูกเก็บไปทิ้งในไฟและถูกเผา ถ้าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในเรา และวาจาของเราดำรงอยู่ในท่าน ท่านอยากได้สิ่งใด ก็จงขอเถิดและท่านจะได้รับ
ชีวิตของเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าจริงๆ หรือเปล่า และชีวิตของเราเป็นเหมือนกับพระเยซูเจ้าจริงๆแล้วหรือยัง?