ศีลอภัยบาป (Penance) หรือการคืนดี
เป็นการคืนดีกับพระ และเพื่อนพี่น้อง มีความเสียใจ และตั้งใจที่จะกลับคืนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระหรรษทานของพระต่อไป
เครื่องหมายสำคัญคือ การเป็นทุกข์เสียใจ และตั้งใจจะกลับคืนดีกับพระและเพื่อนพี่น้อง เพื่อเป็นเครื่องหมายภายนอกที่เห็นได้ โดยการไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ ผู้เป็นคนกลางของพระ และตัวแทนของพระศาสนจักร ผลของศีลอภัยบาปคือ ทำให้ผู้รับได้กลับคืนดีกับพระ และอยู่ในชีวิตพระหรรษทาน สำนึกถึงความรักของพระ และตั้งใจที่จะปรับปรุง แก้ไข เริ่มต้นใหม่ ให้สมกับความเป็นลูกของพระในความครบครัน
การกระทำบาปมีด้วยกัน 5 ทาง คือ
1. ทางความคิด พระเจ้าทรงล่วงรู้ความคิดของเรามนุษย์เสมอ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผิดในการที่จะเก็บความคิดที่ไม่ดีไว้
2. ทางความปรารถนา ความปรารถนาในสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นบาป
3. ทางวาจา คำพูดที่ไม่ดี คำหยาบ ทะเลาะกัน ด่ากัน นินทา – ใส่ความ สิ่งเหล่านั้นเป็นความผิดทางวาจาทั้งสิ้น
4. ทางการกระทำ กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่นการที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ครู การขโมย การอ่าน หนังสือชั่ว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบาปทางการกระทำทั้งสิ้น
5. ทางการละเลย คือการไม่ทำบางอย่าง ซึ่งควรจะต้องทำ
ข้อปฏิบัติในการรับศีลอภัยบาป
1. สวดภาวนา เพื่อขอความช่วยเหลือ และรับพระหรรษทานจากพระเจ้า เพื่อจะได้เตรียมตัวแก้บาปอย่างดี สามารถมีความเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างจริงใจ บทภาวนาที่ควรสวดคือ บทร้องหาพระจิต
2. พิจารณาบาป คือ การสำรวมจิตใจคิดถึงบาป และความผิดที่ได้กระทำตนได้ทำบาปอะไร กี่ครั้ง หนัก-เบาเพียงใด ในการพิจารณาบาป ควรสวดขอความสว่างจากพระจิตเจ้า และพิจารณาบาปตามพระบัญญัติของพระเจ้า พระบัญญัติของพระศาสนจักร บาปต้น 7 ประการหรือหน้าที่ ต่อพระเจ้า หน้าที่ต่อผู้อื่น และหน้าที่ต่อตนเอง
3. เป็นทุกข์ถึงบาป คือการ สำนึกผิดต่อพระเจ้า เสียใจที่ได้ทำบาป เกลียดชังบาปนั้น และตั้งใจที่จะไม่ทำมันอีกซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด
4. สารภาพบาป คือ การบอกบาปของตนแก่พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาป เพื่อให้พระสงฆ์ยกบาปให้ การพิจารณาบาปและการเป็นทุกข์ถึงบาป เป็นการเตรียมตัวที่จำเป็นเมื่อไปรับศีลอภัยบาป การสารภาพเป็นส่วนหนึ่งของศีลอภัยบาป การสารภาพนั้น ต้องเป็นการสารภาพอย่างซื่อสัตย์ ซื่อตรง สุภาพ โดยไม่มีการปิดบังบาปแม้แต่ข้อเดียว
5. ทำกิจใช้โทษบาป เมื่อรู้ตัวว่าทำผิด และเสียใจจริงๆ ในความผิดนั้น ต้องตั้งใจว่าจะไม่ทำความผิดนั้นอีก และพยายามชดเชยความผิดที่ได้กระทำ การใช้โทษบาป คือ ทำตามที่พระสงฆ์กำหนดให้ หรือจะทำให้มากกว่านั้นก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ จะต้องพยายามตั้งใจเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น
ข้อสังเกตเรื่องการรับศีลอภัยบาป ที่คริสตชนบางกลุ่มอาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพิธีมิสซาฯ คือ จริงๆ แล้ว การแก้บาป (ศีลอภัยบาป) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาฯ
สัตบุรุษสามารถรับศีลอภัยบาปได้ตลอดเวลา แม้ไม่ใช่เวลามิสซา แต่การที่มีการแก้บาปก่อนพิธีมิสซาฯ นั้น ก็เพื่อประโยชน์ในด้านการอภิบาลสัตบุรุษ คือ อำนวยความสะดวกแก่สัตบุรุษที่มาวัดอาทิตย์ละครั้ง รวมทั้งทำให้การร่วมพิธีมิสซาฯ ของสัตบุรุษที่รับศีลอภัยบาปแล้ว มีความหมายมากยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสร้างจิตใจ แต่สิ่งที่ควรส่งเสริมคุณค่า และความหมายของศีลอภัยบาปนั้น สัตบุรุษควรรับศีลอภัยบาปอย่างสม่ำเสมอในเวลาใดก็ได้ที่เหมาะสม และมีความต้องการคืนดีกับพระซึ่งไม่เพียงก่อนพิธีมิสซาฯ เท่านั้น
“ความสงบเงียบ” เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในระหว่างพิธีมิสซา และในการภาวนาของแต่ละขณะเวลา เพื่อจะสามารถรวบรวมสมาธิ สติ และการไตร่ตรองของพระวาจา หรือการตรัสเตือนใจของพระในจิตใจของเราได้อย่างดีที่สุด