สวัสดีครับ
สัปดาห์ละครั้ง 7 มิ.ย. 2015
(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)
ผู้สูงอายุหรืออากง อาม้า ปู่ย่า ตายาย แทบทุกคน จะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความเป็นบรรพบุรุษ และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ จะมองเห็นลูกๆ หลาน แม้จะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ยังคงเป็นเด็กๆ เป็นผู้ที่ท่านจะต้องดูแลเสมอ จึงพบว่าบางครั้งถ้าลูกหลานทำอะไรแล้วไม่บอกไม่เล่า ก็จะน้อยใจ งอน เสียใจ คิดว่า ลูกหลานไม่ให้ความสำคัญ ไม่เห็นหัว อะไรทำนองนี้ ซึ่งบางครั้งลูกหลานซึ่งก็อายุ 50-60ปี เข้าไปแล้วคิดว่าไม่อยากรบกวนท่าน ไม่อยากให้ท่านต้องเหนื่อยด้วย เรียกว่าทั้ง 2ฝ่ายมีความคิดและการกระทำที่ดี แต่เพียงว่าไม่เข้าใจธรรมชาติของกันและกันเท่านั้นเอง
ก็มีเหมือนกันที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน อยู่ด้วยกันด้วยความรักความอบอุ่น ดูแลกันและกันอย่างดี ไม่รู้ว่าท่านมีความรู้สึกเช่นนี้หรือเปล่า คือ ทุกครั้งเมื่อเห็น มีครอบครัวที่มีทั้งผู้อาวุโส (บางครั้งต้องนั่งรถเข็ญ) พ่อแม่ ลูกเล็กๆ วัยรุ่น ไปรับประทานอาหารด้วยกัน หรือไปพักผ่อนด้วยกันตามที่ต่างๆ แล้วทำให้เราพลอยชื่นชมกับพวกเขาไปด้วย
เหตุนี้ จึงอยากเชิญชวนให้พวกเราหันมาดูชีวิตครอบครัวของเรากันบ้างว่า เป็นอย่างไร เคยมีปัญหา มีสภาพดังที่ได้กล่าวมาบ้างหรือไม่ เพื่อเราจะได้ช่วยกันทำให้เกิดความอบอุ่นยิ่งขึ้น
หลายครั้ง เราที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส เราอาจจะลืมนึกไปว่า ลูกหลานของเราเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่งงานมีครอบครัวมีลูกเต้าของเขาเองแล้ว อายุสี่ห้าสิบปีแล้ว เราต้องให้เขาเรียนรู้เข้าใจชีวิตด้วยตัวของเขาเองด้วย บางทีการกระทำหรือวิธีการที่เขามีความรู้สึกนึกคิดของเขา มันเป็นคนละสมัยกับเรา ต่างกรรมต่างวาระ ตามยุคตามสมัย เราคอยดูอยู่ห่างๆ คอยเป็นกำลังใจ คอยแนะนำบ้างก็ได้ ติอย่าไปยัดเยียดให้เขาต้องคิดต้องทำอย่างที่เราเคยทำไปเสียทุกอย่าง…
ส่วนลูกหลาน จริงอยู่แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีครอบครัว มีลูกเต้าแล้วก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา เขามีความเป็นห่วง มีความวังดีกับเราเสมอ จึงต้องฟังเขาบ้าง อย่าไปปฏิเสธหรือว่าท่าน ยิ่งไปบอกว่าท่าน ล้าสมัย โบราณ ตกยุคไปแล้ว ฯลฯ ยิ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะท่านเหล่านั้นจะคิดเสมอและไม่เคยเปลี่ยนว่า เราคือลูกหลาน เรายังเป็นผู้ที่ท่านต้องห่วงต้องกังวล ต้องดูแลตลอดไป วิธีการที่ดีก็คือ ฟังท่านบ้าง หรือบางครั้ง ก็ปรึกษาหาความรู้ ความเห็น ให้ความสำคัญกับท่านเสมอ…
ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างมีความเข้าใจถึงธรรมชาติ ความรู้สึกนึกคิดของกันและกันอย่างดี มันก็จะเกิดความสุข สันติได้ในครอบครัว อย่างไม่ต้องสงสัย
เชื่อว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิใช่เรื่องใหม่ ที่ไม่เคยมีใครพูด ใครบอก หรือเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคิด หากแต่ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่ได้นำมาปฏิบัติกันเท่าไหร่นัก ก็เป็นได้ จึงหวังว่าถ้าเราพยายามนำเรื่องนี้มาคิดคำนึง และปฏิบัติกันบ่อยๆ ก็จะเกิดผลดี มิใช่กับใครอื่น แต่กับตัวเราและคนรอบข้าง… สวัสดีครับ