ข้อคิดวันอาทิตย์ที่สิบ เทศกาลธรรมดา ปี C
ข้อคิด…เรื่องเกี่ยวกับงานศพย่อมเป็นเรื่องเศร้า…แต่ภาพงานศพซึ่งพระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์ของพระองค์ได้พบที่เมืองนาอินเป็นเรื่องเศร้าเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องกับงานศพของเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวของหญิงหม้าย การสูญเสียบุตรเป็นการแบกกางเขนที่หนักที่สุดอันหนึ่งงของผู้เป็นพ่อแม่
มีกล่าวไว้ว่า “เมื่อคนชราตายพวกเขานำอดีตส่วนหนึ่งของพวกเราไป แต่เมื่อคนหนุ่มสาวตายพวกเขานำเอาอนาคตส่วนหนึ่งของพวกเราไป”…ความรู้สึกของการสูญเสียนั้นจะยิ่งใหญ่มากขึ้น ถ้าผู้ที่จากไปนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของผู้ที่โศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ และบางครั้งอาจสูญเสียแม้กระทั่งชีวิตของพวกเขาเอง
พระคัมภีร์บอกเราถึงความเจ็บปวดของกษัตริย์ดาวิด เมื่อพระโอรสของพระองค์ที่ยังเด็กอยู่ ป่วยหนัก (2 ซมอ 12 :16-25)…พระองค์ทรงต้องการเอาชนะความเจ็บปวดนี้ด้วยการอธิษฐานอ้อนวอนต่อพระเจ้าเพื่อพระโอรสของพระองค์…พระองค์ได้ทรงจำศีลอดอาหารอย่างเข้มงวด ทรงบรรทมลงบนพื้นตลอดทั้งคืน นุ่งห่มด้วยกระสอบ บรรดาข้าราชบริพารในราชสำนัก ต่างยืนล้อมรอบพระองค์ พยายามให้พระองค์ลุกขึ้นจากพื้น แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ พวกเขาจึงรู้สึกหวาดกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากว่าพระโอรสผู้นี้ สิ้นใจ…หลังจากนั้นเจ็ดวัน พระโอรสก็ได้สิ้นใจ
บรรดาประชาชนยิ่งมีความกลัวมากขึ้น เพราะกษัตริย์อาจจะทรงกระทำบางสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายกับชีวิตของพระองค์ พวกเขากล่าวว่า “แม้เมื่อเด็กนั้นยังมีชีวิตอยู่ เราชี้แจงเหตุผลกับกษัตริย์ แต่พระองค์ไม่ทรงรับฟังเรา” เมื่อกษัตริย์ดาวิดได้ยินพวกเขากระซิบกระซาบกัน พระองค์ทรงทราบว่าพระโอรสของพระองค์นั้นสิ้นใจแล้ว จึงตรัสถามว่า “เด็กนั้นสิ้นใจแล้วหรือ” พวกเขาตอบว่า “สิ้นใจแล้วพระเจ้าข้า”
ประชาชนต่างสงสัยว่า “เวลานี้กษัตริย์จะทรงทำอย่างไร” พวกเขาเฝ้ามองจากไกลๆ แต่กษัตริย์ทำให้พวกเขาประหลาดใจ…พระองค์ทรงลุกขึ้นจากพื้น อาบน้ำ ชโลมพระองค์ และเปลี่ยนฉลองพระองค์ แล้วทรงเสด็จไปยังสักการะสถาน ทรงหมอบกราบต่อหน้าพระเจ้า ระหว่างทางที่ทรงเสด็จกลับพระราชวัง พระองค์ทรงบอกให้จัดอาหารมาให้พระองค์เสวย
บรรดาข้าราชบริภารต่างประหลาดใจในพฤติกรรมของพระองค์ ถึงกล่าวว่า “ทำไมพระองค์จึงทรงปฏิบัติเช่นนี้ เมื่อพระโอรสของพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ พระองค์ทรงจำศีลอดอาหารและทรงกรรแสง แต่บัดนี้พระโอรสสิ้นใจไปแล้ว พระองค์ทรงลุกขึ้นและเสวยพระกระยาหาร” กษัตริย์ดาวิดตรัสตอบว่า “เมื่อโอรสของเรายังมีชีวิตอยู่ เราจะกระทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตของเขาไว้ แต่บัดนี้ เขาจากไปแล้ว เขากลับมาหาเราไม่ได้อีกแล้ว แต่เราไปหาเขาได้”
ดังนั้น กษัตริย์ดาวิดทรงเป็นแบบอย่างของการยอมรับในการเรียกร้องขอชีวิต ในการเผชิญหน้ากับการสูญเสียที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เรามิได้ลืมผู้ตายและเรามีโอกาสระลึกถึงพวกเขา แต่ชีวิตของเราแต่ละคน มีค่าอย่างยิ่ง เพราะเป็นของประทานจากพระเจ้า ดังนั้น เราจึงยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อตัวเราเองและเพื่อคนอื่น…เรามีความเศร้าโศกเพราะชีวิตหนึ่งจากไป แต่การใช้ชีวิตอยู่แต่ในความโศกเศร้า จะเป็นการสูญเสียไปทั้งสองชีวิต
เพราะเมื่อความตายกำลังจะมาถึงตัวเรา เราอาจจะมีความรู้สึกนึกคิดว่าพระเจ้ามิได้ทรงอยู่ใกล้เรา แต่ก็อาจเกิดในสิ่งที่ตรงข้ามกันได้…เพราะ แท้ที่จริงแล้ว ความตายกลับจะนำเราให้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น…ทำไมหรือ?…เพราะเราตระหนักดีว่า ความตายของมนุษย์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์…พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงถือกุญแจแห่งความตายของเราแต่ละคนไว้ ดังนั้น ให้เรามอบตัวของเราไว้ในความรักและพระเมตตาของพระองค์ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงเสด็จมาเยี่ยมประชาชนที่เมืองนาอินในพระบุคคลของพระเยซูเจ้า…พระองค์จะทรงเสด็จมาเยี่ยมเยืยนเราเมื่อเวลาใกล้จะตายด้วยพระพรแห่งการปลอบโยนด้วยความหวังและคำมั่นสัญญาแห่งความบรมสุขนิรันดรในพระอาณาจักรของพระองค์
ความตายมิใช่เป็นการสูญเสีย แต่เป็นการเปลี่ยนจากที่พำนักอาศัยที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ให้เป็นที่พำนักอาศัยที่จะคงอยู่ตลอดไปอย่างนิรันดร์…ความตายไม่ได้อยู่ไกลจากตัวเรา ความตายกำลังเดินทางแห่งชีวิตพร้อมๆกับเรา ด้วยความหวังอย่างมั่นใจว่าเราจะไปพบกับผู้ที่เป็นที่รักของเราอีกในพระอาณาจักรของพระเจ้า
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์