สองอาทิตย์ที่แล้วพ่อได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องอิริยาบถและความหมายของสีอาภรณ์ซึ่งพระสงฆ์ใช้พิธีกรรมไปแล้วในอาทิตย์นี้พ่อขออธิบายเกี่ยวกับความหมายและองค์ประกอบในภาคต่างๆของพิธีมิสซาเพื่อพี่น้องจะได้เข้าใจความหมายและมีส่วนร่วมในการขอบพระคุณพระเจ้าได้อย่างมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
พิธีมิสซาคือพิธีบูชาขอบพระคุณในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชนโดยมีองค์พระเยซูเจ้าเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปแทนเรามนุษย์อาศัยพระกายและพระโลหิตที่ยอมสละและพลีชีวิตเพื่อเรา
ในความเป็นจริงคำว่า“มิสซา”หมายถึง“การถูกส่งไป” เพื่อไปประกาศข่าวดีและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนพี่น้องด้วยการมอบชีวิตของตนเองให้มีคุณค่าแก่ผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เราคริสตชนได้รับจากพระเจ้าซึ่งในพิธีมิสซาเราคริสตชนเชื่อว่าองค์พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงใน3 วิธีการคือ
1. ในพระวาจาของพระองค์ทั้งบทอ่านจากหนังสือพระคัมภีร์และพระวรสาร
2. ระหว่างการเสกปังและเหล้าองุ่นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในพิธีมิสซาเพราะเป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า
3. การรับศีลมหาสนิทซึ่งเป็น“ปังทรงชีวิต” เพื่อคริสตชนจะได้ร่วมสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้ามีส่วนร่วมในงานกอบกู้ของพระเยซูเจ้าและร่วมสนิทสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้องคริสตชนด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้ในพิธีการต่างๆของมิสซาจึงประกอบไปด้วยภาคต่างๆดังนี้คือ
1. ภาคเริ่มพิธีประกอบด้วยเพลงแห่เข้าคำทักทายการสารภาพผิดบทกีรีเอ(พัฒนามาจากบทลีตานีอาในยุคแรกเริ่ม) บทกลอรีอา และบทภาวนาแรกของประธาน(Collecta) โดยสาระสำคัญของภาคเริ่มพิธีนั้นมีไว้เพื่อเตรียมจิตใจสัตบุรุษให้มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันการโน้มใจให้พร้อมฟังพระวาจาของพระเจ้าและการฉลองศีลมหาสนิทอย่างเหมาะสม
2. ภาควจนพิธีกรรมหรือภาคพระวาจาประกอบด้วยบทอ่านแรกจากพันธสัญญาเดิมบทอ่านที่สอง(ซึ่งเป็นบทจดหมายหรือเรื่องใดเรื่องหนี่งในพันธสัญญาใหม่) พระวรสารการเทศน์เตือนใจของพระสงฆ์การประกาศยืนยันความเชื่อและบทภาวนาเพื่อมวลชนในภาควจนพิธีกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในพิธีที่ชาวยิวปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่เดิมก่อนสมัยพระเยซูเจ้าโดยในพิธีมิสซานั้นจะมีการแยก“โต๊ะพระวาจา” หรือธรรมาสน์ออกจาก“โต๊ะศีลมหาสนิท” หรือพระแท่น
· การอ่านพระวาจาไม่ว่าจะเป็นบทอ่านและพระวรสารถือเป็นเสมือนคำพูดที่พระเจ้าทรงตรัสกับเราดังนั้นผู้อ่านและสัตบุรุษจึงต้องแสดงความเคารพด้วยการพนมมือและยืนฟังอย่างสำรวม
· การเทศน์สอนเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมและเป็นสิ่งจำเป็นในการหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการอธิบายพระวาจาเตือนจิตใจและโน้มน้าวให้สัตบุรุษนำพระวาจาของพระเจ้าที่ได้รับฟังไปปฏิบัติจริงในชีวิต
· การประกาศยืนยันความเชื่อ(Credo) เป็นการประกาศเพื่อให้สัตบุรุษเห็นพ้องและตอบสนองต่อพระวาจาของพระเจ้าเป็นการรื้อฟื้นข้อความเชื่อของพระศาสนจักรที่มีมาแต่เดิมซึ่งถือเป็นบทสรุปแห่ง“ประวัติแห่งความรอด” และแสดงออกถึงความหวังในปั้นปลายที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดรกับพระเป็นเจ้า
· บทภาวนาเพื่อมวลชนเป็นบทภาวนาเพื่อแสดงให้เห็นถึงหน้าที่คริสตชนที่ต้องภาวนาเพื่อมนุษยโลกในเรื่องต่างๆที่พระศาสนจักรกำหนดเช่นบทภาวนาเพื่อมวลชนวันสันติภาพสากล บทภาวนาเพื่อมวลชนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือบทภาวนาเพื่อมวลชนในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น
(เรียบเรียงมาจากหนังสือคำสอนคริสตชน)ติดตามต่อในฉบับต่อไป…..