แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
การจัดดอกไม้ในวัด
การจัดดอกไม้เป็นศาสตร์และศิลป์แขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของมนุษย์มาเป็นเวลายาวนาน คริสตชนเองก็มีการใช้ใบไม้ ในการประดับที่ฝังศพของมรณสักขีด้วยใบปาล์ม และกิ่งมะกอกเทศ ซึ่งในเวลานั้น กลุ่มคริสตชนประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณบนที่ฝังศพของบรรดามรณสักขี ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นพระแท่น จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 12-13 จึงเริ่มมีการประดับตกแต่งวัดด้วยดอกไม้ มีการปลูกสวนดอกไม้ไว้ตามวัดและอาราม ควบคู่กับพืชสมุนไพรสำหรับใช้เป็นยารักษาโรค
การจัดดอกไม้ในวัด ในกฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน ได้กล่าวถึงการจัดดอกไม้สำหรับประดับในวัด ไว้ในข้อที่ 305 ว่า
ควรตกแต่งพระแท่นแต่พอประมาณ
ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ให้ใช้ดอกไม้ตกแต่งแท่นพอประมาณสมกับลักษณะของเทศกาล แต่อย่าให้เป็นการแสดงความยินดีเต็มที่ของเทศกาลพระคริสตสมภพก่อนเวลาในเทศกาลมหาพรต ห้ามแต่งดอกไม้บนพระแท่น ยกเว้นในวันอาทิตย์ที่สี่ (อาทิตย์ Laetare) ในวันสมโภชหรือฉลอง
การแต่งดอกไม้ควรให้พอประมาณเสมอ ดอกไม้ควรวางไว้ใกล้ ๆ พระแท่นมากกว่าจะวางไว้บนพระแท่น
จากเอกสารนี้ซึ่งให้แนวทางกว้าง ๆ ไว้เท่านั้น คือแต่ละคนก็นำมาตีความว่า “พอประมาณ” นั้น คือแค่ไหน โดยเฉพาะการจัดดอกไม้ในโอกาสฉลองสำคัญ ๆ บางวัดก็ทุ่มงบประมาณในการจัดดอกไม้เต็มที่ จนบริเวณพระแท่นดูเหมือนเป็นสวนดอกไม้ บางคนก็มีความคิดสร้างสรรค์ใช้สิ่งอื่น ๆ มาเสริมแต่งเพิ่มเติม เช่น ผัก ผลไม้ น้ำพุ รูปปั้น รูปสัตว์ น้ำตก ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ เหมาะสมหรือไม่
หากเราแบ่งภายในของตัวโบสถ์ออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นสักการสถาน (Sanctuary) ส่วนที่เป็นบริเวณของสัตบุรุษ
– การจัดดอกไม้บริเวณสักการสถาน ควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุด การจัดดอกไม้จึงไม่ควรบดบังหรือดึงดูดความสนใจของสัตบุรุษไปจากพิธีกรรมที่กำลังประกอบ ในกฎทั่วไปฯ ข้อ 305 กล่าวไว้ว่า “ดอกไม้ควรวางไว้ใกล้ ๆ พระแท่นมากกว่าจะวางไว้บนพระแท่น” เพราะพระแท่นหมายถึงพระเยซูคริสตเจ้า ดอกไม้ก็ไม่ได้จัดเป็นเครื่องบูชาหรือของถวาย เพราะในพิธีบูชาขอบพระคุณมีเพียงแผ่นปังและเหล้าองุ่นเท่านั้นที่เป็นเครื่องบูชา ดอกไม้เป็นเพียงสิ่งประดับตกแต่งเท่านั้น จึงแนะนำให้หาตำแหน่งวางดอกไม้ที่เหมาะสม เช่น บนพื้นแทบเชิงพระแท่น หรือบนขาตั้งที่ทำขึ้นเฉพาะ นอกจากนั้น ในบริเวณสักการสถานยังประกอบด้วยบรรณฐาน หรือที่อ่านพระวาจา ตู้ศีล และพระรูปต่าง ๆ การตกแต่งดอกไม้ในจุดต่าง ๆ นี้ ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบเช่นเดียวกัน ไม่ให้บดบัง หรือดูรกรุงรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรระมัดระวังบริเวณตู้ศีล ซึ่งเป็นที่พระทับของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท
– การจัดดอกไม้บริเวณของสัตบุรุษ ได้แก่ บริเวณม้านั่ง ทางเดินกลาง ประตู และหน้าต่าง ซึ่งตามปกติแล้ว เวลามีพิธีกรรมวันอาทิตย์ก็ไม่มีการจัดดอกไม้ตกแต่ง นอกจากโอกาสฉลองวัด หรือในโอกาสจัดพิธีแต่งงานเท่านั้น ที่นิยมจัดดอกไม้ตกแต่ง ตั้งแต่ประตูกลาง หัวมุมของม้านั่งแถวกลาง การจัดดอกไม้ในบริเวณเหล่านี้ ควรคำนึงถึงความเรียบร้อย ไม่เกะกะกีดขวางทาง และจะไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการล่วงหล่นหรือล้มทับของสิ่งที่นำมาตกแต่ง
ตามธรรมเนียมของทางตะวันตกดอกไม้บางชนิดก็มีความหมายแฝงอยู่ การนำดอกไม้แต่ชนิดมาใช้ก็ควรคำนึงถึงความหมายที่แฝงอยู่นั้นด้วย เช่นเดียวกับวัฒนธรรมไทยซึ่งดอกไม้บางประเภทถูกจำกัดให้ใช้เพียงบางโอกาสเท่านั้น เช่น ดอกซ่อนกลิ่น ดอกหน้าวัว ใบปลง มักนิยมใช้ในงานศพ ดอกบัวสำหรับบูชาพระรัตนไตร การจัดดอกไม้แม้ในโบสถ์คริสต์ก็ควรจะปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยด้วย เพราะหากมีผู้นับถือศาสนาอื่นมาร่วมพิธีจะได้ไม่รู้สึกสะดุดใจ
ดอกไม้แต่ละชนิดก็มีความหมายที่สื่อออกมา เช่น ดอกกุหลาบแดงเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของหนุ่มสาว ดอกลิลลี่สีขาวเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงขอยกตัวอย่างดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่พอจะหาได้ในเมืองไทย ซึ่งแม้เป็นดอกไม้เมืองหนาว แต่ก็สามารถปลูกได้ในเขตภาคเหนือของไทย และนิยมนำมาใช้ประดับตกแต่ง
กกธูปฤษี (Bulrush) เป็นไม้จำพวกกก อ้อ ขึ้นเป็นกอ พบได้ทั่วไปใกล้แหล่งน้ำ จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีศรัทธาในศาสนาซึ่งมีอยู่ทุกหัวระแหง คนเหล่านี้ดำเนินชีวิตอย่างสมถะตามคำสอนของพระศาสนจักรอันเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต การตีความเช่นนี้มีที่มาจาก “โยบ”8:11ว่า “ต้นกกจะขึ้นในที่ไม่มีตมได้หรือไฉน ต้นอ้อจะงอกงามโดยปราศจากน้ำได้กระนั้นหรือ”
ดอกคาร์เนชัน (Carnation)ดอกคาร์เนชันสีแดงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักอันบริสุทธิ์ ดอกคาร์เนชันสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ของการแต่งงาน
เฟิร์น (Fern) ซ่อนความงามและความบอบบางอยู่ในป่าทึบ ผู้ที่เพียรเสาะหาเท่านั้นจึงจะได้พบเห็น ไม้ที่มีเสน่ห์ชนิดนี้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสันโดษ ความถ่อมตัว ความเปิดเผย และความจริงใจ
ไอริส (Iris) เป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของแม่พระ เช่นเดียวกับดอกลิลี เป็นสัญลักษณ์แห่งความโศกเศร้าของพระนางต่อพระทรมานของพระเยซูเจ้า ศิลปินชาวสเปนยังใช้ดอกไอริสเป็นเครื่องหมายของราชินีแห่งสวรรค์ และการปฏิสนธินิรมลของพระนาง
มะลิ (Jasmine) มีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของแม่พระผู้นิรมล นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความนุ่มนวล ความดีงาม และความอ่อนหวานด้วย
ลิลี (Lily) เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของแม่พระ และเป็นเครื่องหมายของนักบุญที่เป็นพรหมจารี ส่วนดอกลิลีท่ามกลางพงหนามเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิสนธินิรมลของแม่พระ อันทำให้พระนางปลอดจากบาปกำเนิด นอกจากนี้ยังสื่อความหมายว่าพระนางสามารถรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางคนบาปในโลก
ใบปาล์ม (Palm) ชาวโรมันใช้ใบปาล์มเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะซึ่งชาวคริสต์รับมาใช้ต่อ โดยถือว่าใบปาล์มบอกถึงชัยชนะของผู้ยอมรับทัณฑ์ทรมานเหนือความตาย เหล่ามรณสักขีมักถือใบปาล์มคู่กับเครื่องมือที่ใช้ลงทัณฑ์พวกท่าน
กุหลาบ (Rose) ในศาสนาคริสต์กุหลาบแดงเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับทัณฑ์ทรมาน ส่วนกุหลาบขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์
ดอกเบญจมาศ สีขาว (Chrysanthemum) หมายถึง ความจริง
กล้วยไม้ (Orchid) หมายถึง ความรัก ความงาม ในธรรมเนียมจีนหมายถึงการมีลูกหลานมากมาย
การจัดดอกไม้ในวัด ยังควรที่จะเลือกสีของดอกไม้ให้เข้ากับเทศกาลของพระศาสนจักรด้วย โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “สีที่ใช้แสดงในพิธีกรรม”
จากเว็บไซต์ http://www.catholic.or.th เขียนโดย วัดนักบุญหลุยส์มารี บางแค