แทน….
9 พฤศจิกายน ฉลองวันครบรอบการถวายพระวิหารลาเตรัน
(The Dedication of the Lateran Basilica, feast.)
วันนี้เป็นวันฉลองการถวายพระวิหารของนักบุญยอห์น แห่งลาเตรันในกรุงโรม ซึ่งเป็นประดุจ “มารดาและนายหญิงของวัดทั้งหลายในเมืองและในโลกนี้” เพราะว่าเป็นธรรมาสน์ขั้นสังฆราชาขององค์พระสันตะปาปา ในฐานะที่ทรงเป็นสังฆราชของกรุงโรม พระวิหารนี้จึงอยู่ในอันดับสูงกว่าพระวิหารนักบุญเปโตร (วาติกัน)
พระนาง Fausta ซึ่งเป็นพระคู่ครองของจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้ยิ่งใหญ่ ได้ทรงมอบวังลาเตรันของพระนางถวายแด่นักบุญ Miltiades พระสันตะปาปา ราวปี ค.ศ. 313ต่อมาเมื่อวันที่ 9พฤศจิกายน ค.ศ. 324นักบุญซิลเวสเตอร์ที่ 1พระสันตะปาปา ได้ทำการเสกอย่างสง่าในภาคส่วนที่เป็นบาสิลิกาขององค์พระผู้ไถ่ผู้ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด (ชื่อเดิม= the Basilica of the Most Holy Savior) – เป็นการเสกวัดต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกของพระศาสนจักร พิธีทั้งหมดอาจจะเป็นแบบเรียบๆ ง่ายๆ ในเวลานั้น แต่ต่อมามีการเสกวัดอย่างสง่าที่เต็มไปด้วยรายละเอียดทางพิธีกรรมจนถึงปัจจุบันนี้ มีหลักฐานเป็นที่รับรู้ว่าได้ใช้มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 ในส่วนของวังลาเตรันที่เหลือ (ที่ไม่ได้เป็นเขตพระวิหาร) ก็เป็นวังที่ประทับของบรรดาพระสันตะปาปามากกว่า 1,000ปีนับแต่นั้นมา และปัจจุบันก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์
ในช่วงศตวรรษที่ 4-16มีการประชุมสภาสังคายนา 5ครั้ง ประชุมซีโน้ด 20ครั้ง ที่จัดขึ้นในบาสิลิกาหลังนี้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นพระวิหารนักบุญยอห์น แห่งลาเตรัน เพื่อเทิดเกียรติแด่นักบุญยอห์น บัปติสต์ และนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสารที่จริงแล้ว ลาเตรันได้เป็นเหมือนโลกของคาทอลิกในอดีต ดุจดังที่วาติกันกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ของการตัดสิน และเป็นศูนย์กลางการปกครองของพระศาสนจักร
โครงสร้างของพระวิหารหลังเดิม และต่อๆ มาเสียหายไปหมด เพราะสงคราม เพราะแผ่นดินไหว และเพราะเปลวไฟ หลังที่เป็นบาโรค(Baroque) ทั้งหมดที่ทำขึ้นมาใหม่รวมทั้งการตกแต่งดังที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ดำเนินการโดย ฟรานเชสโก บาร์โรมินี (Francesco Barromini) ในสมณสมัยพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 (Pope Innocent X) ในปี ค.ศ. 1646ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระวิหารที่สง่างามมากที่สุดของกรุงโรม โดยมีหอคอยด้านหน้าอาคารใหญ่ ที่สร้างโดย อเล็กซานเดอร์ กาลิเลอี (Alexander Galilei) ในปี ค.ศ. 1735ประดับด้วยรูปปั้นใหญ่มหึมา 15รูป ซึ่งมีพระรูปพระคริสต์อยู่ตรงกลาง ขนาบสองข้างด้วยรูปนักบุญยอห์น บัปติสต์ และนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร และนักปราชญ์ของพระศาสนจักรอีก 12องค์
ในบรรดาพระธาตุสำคัญๆ ที่เก็บรักษาไว้ในสักการสถานยิ่งใหญ่ของคริสตชนแห่งนี้ ได้รับการบอกกล่าวกันมาว่ามีส่วนศีรษะของนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล ซึ่งบรรจุไว้ภายในกล่องเงินแท้ อยู่ภายใต้พระแท่นถวายบูชาตรงกลาง ยังมีเศษของโต๊ะไม้เล็กๆ ที่นักบุญเปโตรได้เคยถวายบูชามิสซาในบ้านของ Pudens และพระธาตุไม้จากโต๊ะที่ใช้ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ด้วย
(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)