ต่อจากฉบับที่แล้ว
“คำแนะนำเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตสมภพและการฉลองพระคริสตสมภพ”
9. บูชามิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ
บูชามิสซาโอกาสสมโภชพระคริสตสมภพ มีทั้งหมด 4 มิสซาด้วยกัน คือ 1. มิสซาคืนตื่นเฝ้า 2. มิสซาเที่ยงคืน 3. มิสซารุ่งอรุณ และ 4. มิสซาระหว่างวัน แต่ละมิสซามีบทภาวนาและบทอ่านเฉพาะ ควรใช้บทอ่าน / บทภาวนา ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ถวาย สำหรับมิสซาเที่ยงคืน ช่วงเวลาที่ถวาย ไม่ได้กำหนดตายตัว อย่างเข้มงวดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าหากไม่สามารถจัดฉลองบูชามิสซาเวลาเที่ยงคืน แต่ละท้องที่สามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมได้ เพียงขอให้เป็นช่วงดึก ที่เลยหัวค่ำไปแล้ว เช่น สามทุ่ม สี่ทุ่ม หรือห้าทุ่ม เป็นต้น
10. การจัดและเลือกบทมิสซา
ทำวัตรภาคบทอ่าน อาจจะถูกนำมาสวดหรือขับร้อง ก่อนพิธีบูชามิสซาก็ได้ (บางแห่ง ใช้ช่วงเวลาก่อนมิสซา ช่วงที่พระสงฆ์กำลังโปรดศีลอภัยบาป จัดพิธีฉลองบทเพลงคริสตสมภพ นำโดยคณะนักขับร้อง) บทภาวนา / บทอ่านของมิสซารุ่งอรุณใช้สำหรับมิสซาในตอนเช้าของวันที่ 25 ธันวาคม ขณะที่บทภาวนา / บทอ่านของมิสซาระหว่างวัน จะใช้ เมื่อจะมีมิสซาในช่วงเวลาอื่นอีก
ระหว่างสวดบทข้าพเจ้าเชื่อ เมื่อถึงถ้อยคำที่ว่า “พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์ จากพระนางมารีย์พรหมจารี ด้วยอานุภาพของพระจิตเจ้า และทรงบังเกิดเป็นมนุษย์” ให้ทุกคนคุกเข่า
11. การประกาศสมโภชพระคริสตสมภพ
พิธีกรรมตามจารีตโรมันได้กำหนดให้ประกาศสมโภชการเสด็จมาบังเกิดขององค์พระคริสตเจ้า ในวันสมโภชพระคริสตสมภพ (ขณะที่จารีตตะวันออกจะประกาศในวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์) โดยเนื้อหาของการประกาศจะกล่าวถึงการมาบังเกิดของพระผู้ไถ่ที่เชื่อมโยงกับบริบทของประวัติศาสตร์ความรอด และก็เชื่อมโยงธรรมล้ำลึกเรื่องการรับสภาพมนุษย์กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์
การประกาศนี้ ควรประกาศอย่างสง่า ณ บรรณฐาน โดยสังฆานุกร หรือนักร้องนำ หรือผู้อ่าน ที่สวมอาภรณ์ตามหน้าที่อย่างเหมาะสม หากไม่ใช่บุคคลดังกล่าวที่ทำหน้าที่ประกาศการสมโภช พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน หรือพระสงฆ์ท่านหนึ่งท่านใด เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ระหว่างที่ประกาศสมโภชพระคริสตสมภพ ทุกคนยืนขึ้น
ช่วงเวลาสำหรับการประกาศ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม ที่ดูเหมือนจะเหมาะและถือปฏิบัติกันก็คือ ช่วงที่สวดทำวัตรภาคบทอ่าน ก่อนมิสซา โดยประกาศสมโภช ก่อนขับร้องบท Te Deumหรืออยู่ในช่วงของพิธีกึ่งพิธีกรรม ฉลองเพลงคริสตสมภพ (ในบางแห่ง มีการประกาศสมโภช ในช่วงของการสารภาพผิด หลังการทักทาย หรือกล่าวนำในตอนต้นของมิสซา โดยตัดบทสารภาพผิดออก)
หากสังฆานุกรเป็นผู้ประกาศสมโภช สังฆานุกรไม่ต้องไปขอพรจากประธาน แต่ประธานควรจะกล่าวนำสั้น ๆ
12. ถ้ำ และตะกร้ารางหญ้าพระกุมาร
ถ้ำพร้อมกับตะกร้ารางหญ้าพระกุมารถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีการสร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นอย่างแพร่หลายในจารีตโรมัน โดยจะถูกจัดเตรียมไว้ในวันที่ 17 ธันวาคม หรือเพียงแค่ก่อนทำวัตรเย็นของวันฉลองพระคริสตสมภพ แต่รูปปั้นพระกุมารไม่ควรจะนำมาวางก่อนมิสซาเที่ยงคืน อย่างไรก็ตาม ถ้าก่อนมิสซาเที่ยงคืน ในตอนหัวค่ำมีมิสซาตื่นเฝ้า ที่ถือเป็นมิสซาสำหรับทุก ๆ ครอบครัว ก็สามารถนำรูปปั้นพระกุมารมาวางในตะกร้านั้น ก่อนที่มิสซาดังกล่าวจะเริ่มก็ได้
การวางรูปปั้นพระกุมารอาจจะไม่มีพิธีพิเศษอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือปฏิบัติกันมา โดยถือรูปแบบจากเมืองเบธเลแฮม ที่จะจัดให้มีพิธีวางรูปปั้นพระกุมาร ก่อนที่พิธีมิสซาจะเริ่ม มีการขับร้องบทเพลงที่เหมาะสมขณะที่ขบวนแห่รูปปั้นพระกุมารเริ่มขึ้น เมื่อขบวนแห่มาถึงถ้ำพระกุมาร ประธานคุกเข่า และวางรูปปั้นพระกุมารลงในตะกร้า อาจจะถวายกำยานให้รูปปั้นพระกุมารก็ได้ ยังอาจจะมีพิธีเสกถ้ำและตะกร้ารางหญ้าพระกุมารด้วยก็ได้ หลังจากนั้นจึง เริ่มบูชามิสซา ขบวนแห่ แห่ไปที่พระแท่น (มีข้อที่ควรคำนึงก็คือ ถ้ำพระกุมารไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสร้างไว้ที่หน้าพระแท่น และถ้าแม้ไม่มีถ้ำ มีแต่ตะกร้ารางหญ้าพระกุมาร ก็ยังไม่ควรวางตะกร้านั้นที่หน้าพระแท่นด้วยช่นกัน)
13. อัฐมวารพระคริสตสมภพ
ในขณะที่ช่วงเวลาแปดวันหลังวันสมโภชปัสกา (อัฐมวารปัสกา) ไม่มีการฉลองนักบุญใด ๆ ทั้งสิ้น ช่วงแปดวันหลังสมโภชพระคริสตสมภพ กลับมีการฉลองนักบุญและฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้าแทรกเข้ามาด้วย นักบุญที่ได้รับการฉลองในช่วงเวลานี้ ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มเพื่อนพระเยซู” อันได้แก่ นักบุญสเตเฟน มรณสักขีท่านแรก (26 ธันวาคม) นักบุญยอห์น อัครสาวก (27 ธันวาคม) บรรดาทารกผู้วิมล (28 ธันวาคม วันนี้ บางแห่งกำหนดให้มีการภาวนาเพื่อบรรดาทารกที่ถูกฆ่าก่อนกำเนิด)
14. วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ และการประกาศวันสมโภชปัสกา
พระศาสนจักรสากลทำการสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ในวันที่ 6 มกราคม แต่พระศาสนจักรท้องถิ่นสามารถเลือกสมโภชในวันอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างวันที่ 2 – 8 มกราคม การสมโภชนี้มีความหมายถึง องค์พระผู้ไถ่ได้เปิดเผยพระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นแสงแห่งนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ ในวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ สามารถตั้งและจุดเทียนเพิ่ม ทั้งในบริเวณใกล้ ๆ พระแท่น หรือ บริเวณอื่น ๆ ภายในวัด นอกจากนี้ ภายในถ้ำพระกุมาร มีธรรมเนียมที่จะตั้งรูปปั้นของกษัตริย์แห่งบูรพา หรือพญาสามองค์ แทนที่รูปปั้นของบรรดาคนเลี้ยงแกะ
ในวันสมโภชนี้ หลังบทพระวรสาร หรือหลังบทเทศน์ หรือต่อจากบทภาวนาหลังรับศีล มีการประกาศวันสมโภชปัสกา รวมทั้งวันฉลองอื่นๆ ที่กำหนดวันฉลองจะเปลี่ยนไปทุกปี เช่น วันพุธรับเถ้า วันสมโภชพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ วันสมโภชพระจิตเจ้า และวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
เรียบเรียงจาก Ceremonies of the Liturgical Yearของ Msgr. Peter J. Elliott