วันที่ 8 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญโดมินิก พระสงฆ์
(St. Dominic, Priest, memorial)
นักบุญโดมินิก กุซมาน (St. Dominic Guzman) มีชีวิตในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1170 – 1221ชื่อ “โดมิงโก” (Domingo = ภาษาสเปน) มีความหมายว่า “ฉันเป็นของพระเจ้า” และตลอดเวลาที่ท่านในฐานะผู้ก่อตั้ง “คณะผู้เทศน์” (Order of Preachers) หรือที่เรียกกันว่าคณะ “โดมินิกัน” ก็ได้พิสูจน์ความจริงถึงความหมายแห่งชื่อของท่านด้วยความเบิกบานที่ฉายแสงจากการที่ท่านชิดสนิทอย่างลึกซึ้งกับองค์พระเจ้า
ท่านเกิดในตระกูลขุนนาง บิดาชื่อ Felix de Guzman และมารดาชื่อ Blessed Joan of Aza ที่เมือง Caleruega แห่งแคว้น Castille ในประเทศสเปน ได้รับการศึกษาที่เมือง Palencia และในปี 1196ได้เข้าร่วมคณะภราดาของนักบุญออกัสตินที่มหาวิหารของเมือง Osma ท่านได้ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัยในเรื่องการภาวนาและใช้โทษบาป ในปี 1203ขณะเดินทางผ่านภาคใต้ฝรั่งเศสเพื่อมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังประเทศเดนมาร์กกับพระสังฆราช Diego of Osma ท่านได้รับทราบข่าวที่น่าตระหนกในเรื่องที่พวก Albigenses (=เป็นเฮเรติ๊กพวกหนึ่ง) ได้เทศน์สอนที่ก่อให้เกิดความสับสนในจิตใจของบรรดาคริสตชน พวก Albigenses หรือ Cathars, “the pure” ได้อ้างตัวเองว่าเป็นคริสตชน แต่เชื่อและสอนผิดๆว่า ร่างกายและวัตถุสิ่งของเป็นความชั่วร้าย แต่จิตวิญญาณเป็นของพระเจ้า ดังนั้นเนื้อหนังและจิตใจจึงเป็นศัตรูถาวรต่อกัน ผลที่ตามมาไกลกว่านั้น คือพวกนี้ปฏิเสธเรื่องพระบุตรทรงรับเอากายมาเกิดเป็นมนุษย์ (Incarnation) และไม่ยอมรับเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (เพราะองค์ประกอบของศีลศักดิ์สิทธิ์ต้องมี matter and form – ผู้แปล) ยิ่งไปกว่านั้น พวก Albigenses ดำรงชีพอย่างเข้มงวดจนน่าชม พร้อมทั้งก่นว่า(ประณาม)อย่างต่อเนื่องถึงพระศาสนจักรที่ติดจิตตารมณ์แบบโลกและมีความร่ำรวย อีกทั้งตำแหน่งเกียรติยศต่างๆ
พระสันตะปาปาอินโนเซนท์ที่ 3ได้ทรงต่อต้านเฮเรติ๊กนี้ด้วยการเริ่มตั้งคณะออกไปเทศน์สอน แต่พันธกิจของนักเทศน์และบรรดาสมณทูตประสบความล้มเหลวในปี 1206ที่ Lanquedac เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้โดมินิกและพระสังฆราชของท่านตระหนักว่า การที่จะสามารถเอาชนะเฮเรติ๊กพวกนี้ได้ก็ต้องมีความเคร่งครัดอย่างน้อยให้เท่าเทียมกับพวกเขา ดังนั้น “คณะนักเทศน์พระวรสาร” ของท่านจึงบังเกิดขึ้น ท่านยังได้สร้างอารามคณะซิสเตอร์ที่เมือง Prouille จากกลุ่มสตรีที่กลับใจมาจากพวกเฮเรติ๊กนี้ ทั้งกลุ่มภราดานักเทศน์ของท่านและคณะซิสเตอร์นี้ได้รับการต้อนรับในเมือง Toulouse โดยพระสังฆราช Foulques ผู้ซึ่งแต่งตั้งพวกเขาเป็น “นักเทศน์ของสังฆมณฑล” ในปี 1215 ตั้งแต่นั้นมาความสนใจหลักของท่านคือการอบรมทางเทววิทยาให้กับสมาชิกในคณะของท่าน ซึ่งท่านอยากให้พวกเขาอุทิศตนเพื่อพัฒนาจริยธรรมให้มากขึ้น เพื่อทำลายลัทธิเฮเรติ๊กนี้ให้หมดสิ้นไป และเพื่อทำให้เข้มแข็งทางความเชื่อ การเดินทางตามถนนด้วยเท้าเปล่า และการดำรงชีพอย่างยากจนเหมือนกับเพื่อนร่วมสมัยของท่าน คือ ฟรังซิส อัสซีซี (c. 1181-1226) ท่านได้นำเรื่องของพิธีกรรมและการรำพึงภาวนาเข้ามาในงานแพร่ธรรม ต่อมา ท่านได้รับเชิญให้เทศน์ในช่วงเทศกาลมหาพรตให้กับพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3และ คณะทำงานของพระองค์ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักเทววิทยาของพระสันตะปาปา ซึ่งตั้งแต่นั้นมากลายเป็นตำแหน่งประจำของพระสงฆ์คณะโดมินิกัน
แรกทีเดียวพระศาสนจักรหวาดระแวงความคิดที่ว่าใครก็ได้สามารถเทศนาเรื่องความเชื่อได้ ยกเว้นแต่สมณะพวกเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จชัดเจนของบรรดาภราดาในเหตุการณ์นี้ทำให้พระสันตะปาปา Honorius ที่ 3ยอมรับรองให้ตั้งคณะนี้ได้อย่างเป็นทางการในปี 1216พระองค์ได้ตรัสในโอกาสนี้ว่า “เราภาวนาและอ้อนวอนท่านให้เทศน์พระวรสารทั้งในเวลาที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม”
ท่านสิ้นชีวิตที่เมืองโบโลญา (Bologna) ประเทศอิตาลี วันที่ 6สิงหาคม 1221คณะภราดาของท่านได้เผยแพร่ออกไปทั่วทั้งสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สแกนดิเนเวีย โปแลนด์ และแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ กล่าวกันท่านได้ทำให้ผู้ไม่เชื่อกลับใจถึง 100,000คน อันเป็นผลมาจากการที่ท่านสามารถหยุดยั้งพวกเฮเรติ๊ก Albigenses ลงได้ ที่น่าสังเกต สิ่งที่ทำให้ท่านชนะจิตวิญญาณและบรรดาผู้ติดตามทั้งหลายคือ เสน่ห์ของท่าน ความทุ่มเทในเรื่องความสัตย์จริง สติสัมปชัญญะที่เฉียบคมต่อหน้าที่ที่ทำด้วยความรักอย่างนุ่มนวลต่อวิญญาณของคนบาป และการหยั่งรู้ถึงความต้องการและสัญลักษณ์ของกาลเวลา ยิ่งกว่านั้น ท่านยังเน้นให้เห็นถึงความศรัทธาต่อการสวดลูกประคำ อัศจรรย์ต่างๆของท่าน ซึ่งรวมถึงการปลุกคนตายให้กลับมีชีวิต คือพยานยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
นักบุญโดมินิก ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 1234โดยเพื่อนของท่าน คือพระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 9พระองค์ได้ทรงประกาศว่า พระองค์ไม่ทรงสงสัยเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญโดมินิกเลย เหมือนที่ไม่เคยทรงสงสัยความศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)