ข้อคิดวันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร
2 กุมภาพันธ์
ลก2: 22-32…นัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น…เป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์และเป็นสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอลประชากรของพระองค์…
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์พระผู้ได้รับการเจิมและในฐานะที่ทรงเป็น“ผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์ของพระเจ้า” พระบิดาเจ้าทรงแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นแสงสว่างและความรอดพ้นของประชาชาติ…ดังนั้นให้เราได้ติดตามแสงสว่างนี้จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางคือพระอาณาจักรของพระเจ้า
ข้อคิด…พระศาสนจักรที่กรุงเยรูซาเลมทำการฉลองการถวายพระเยซูคริสตเจ้าที่พระวิหารในวันที่15 กุมภาพันธ์คือ40 วันหลังจากการบังเกิดของพระองค์เพราะในขณะนั้นพระศาสนจักรตะวันออกฉลองพระคริสตสมภพในวันที่6 มกราคม…การที่ใช้ช่วงระยะเวลาห่างกัน40 วันนี้เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมบัญญัติของพวกชาวฮีบรูซึ่งได้กำหนดระยะเวลานี้เอาไว้ระหว่างการเกิดมาของเด็กทารกกับการที่ผู้เป็นมารดาต้องชำระล้างตัวเองให้สะอาดบริสุทธิ์แต่ว่าเมื่อวันฉลองการถวายพระเยซูคริสตเจ้าที่พระวิหารได้แพร่หลายเข้ามาในพระศาสนจักรตะวันตกในศตวรรษที่6 และที่7 วันฉลองนี้ได้เลื่อนมาอยู่ในวันที่2 กุมภาพันธ์ เพราะเราคริสตชนฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูคริสตเจ้าในวันที่25 ธันวาคม
ที่กรุงโรมการฉลองนี้ได้นำเอาพิธีกรรมเป็นทุกข์ถึงบาปผนวกเข้ามาไว้ด้วยซึ่งในเวลานั้นก็ได้มีพิธี“ชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์” เหมือนกันแต่พระศาสนจักรได้นำเอาพิธีนี้มาใช้เพื่อแสดงให้เห็นจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป…และค่อยเป็นค่อยไปที่สุดวันฉลองนี้ได้นำเอาพิธีแห่ที่แสดงความเป็นทุกข์ถึงบาปมาใช้ด้วยเพื่อเป็นการเลียนแบบการถวายพระเยซูคริสตเจ้าที่พระวิหาร…ในศตวรรษที่7 พระสันตะปาปาแซร์ยีอุสซึ่งมีเชื้อสายเป็นคนทางพระศาสนจักรตะวันออกได้สั่งให้แปลบทภาวนาภาษากรีกของวันฉลองนี้มาเป็นภาษาลาตินและได้นำมาใช้ในพิธีแห่ของจารีตโรมันในศตวรรษที่10 พระศาสนจักรในประเทศโกล(ประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) ได้จัดให้มีพิธีเสกเทียนอย่างสง่าสำหรับใช้ในพิธีแห่นี้ด้วยและถัดมาอีกหนึ่งศตวรรษได้มีการนำเอาบทขับร้องที่เรารู้จักกันดีในเวลานี้คือLumen ad RevelationemและบทNunc Dimittisของผู้เฒ่าซีเมออนมาใช้ในพิธีวันฉลองนี้ด้วย
การฉลองการถวายพระเยซูคริสตเจ้าที่พระวิหารมิใช่เป็นธรรมล้ำ-ลึกแห่งความชื่นชมยินดี(ดังในบทรำพึงของการสวดสายประคำ50 เม็ดแรก) แต่ว่าเป็นธรรมล้ำลึกแห่งความทุกข์โศกแห่งพระทรมานเพราะพระนางมารีย์ได้ถวายพระบุตรพระเยซูคริสตเจ้าแด่พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาให้สิ้นพระชนม์ที่ไม้กางเขน
การฉลองนี้เป็นการเริ่มต้นธรรมล้ำลึกแห่งความทุกข์ทรมานของพระนางมารีย์ซึ่งจะบรรลุถึงที่สุดณเชิงไม้กางเขน…ไม้กางเขนจะเป็นดาบที่เสียบแทงดวงใจของพระนาง
บุตรหัวปีชาวฮีบรูทุกคนเป็นสัญลักษณ์ที่คงอยู่ตลอดไปและเป็นการรำลึกถึงการช่วยให้พ้นจากการเป็นทาสของบาปของเราอยู่ทุกๆวัน
บุตรหัวปีของชาวฮีบรูในประเทศอียิปต์ได้รับการไว้ชีวิตไม่ได้สัมผัสกับความตายแต่ว่าพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งเป็นบุตรหัวปีของพระเจ้ากลับไม่ได้รับการไว้ชีวิต…โดยอาศัยพระโลหิตของพระองค์พระองค์จะนำอิสรภาพใหม่อย่างสมบูรณ์มาให้เรามนุษย์ทุกคน
พฤติกรรมของพระนางมารีอาในการถวายพระบุตรนี้ได้รับการแปลออกมาเป็นการปฏิบัติทางพิธีกรรมในการร่วมถวายพิธีบูชาขอบพระคุณของเราในทุกๆครั้งเพราะเมื่อปังและเหล้าองุ่นอันเป็นผลิตผลของแผ่นดินและงานของมนุษย์ได้ถูกนำกลับมาให้เราในรูปของพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าก็จะบันดาลให้เราได้มีสันติภาพกับพระองค์เพราะว่าเราจะพิศเพ่งมองดูการช่วยให้รอดพ้นของพระองค์และจะได้เจริญชีวิตรอคอยการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์