วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์หรือวันพระตาย เป็นวันที่บรรดาคริสตชนทั่วโลกรำลึกถึงการตรึงพระเยซูเจ้าที่ไม้กางเขนและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ที่เขากัลวารีโอและเป็นวันแรกของ “ตรีวารแห่งธรรมล้ำลึกปัสกา” (Paschal Triduum) ซึ่งรวมไปถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ “ระลึกถึงการเลี้ยงและพิธีล้างเท้าของพระคริสตเจ้า” ของวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ด้วย เชื่อกันว่าวันที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงที่ไม้กางเขน เป็นวันศุกร์ (ยน 19: 42) ที่ 3 เมษายน ค.ศ. 33
เรื่องเล่าพระทรมานของพระเยซูเจ้าตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นช่วยให้เราเข้าใกล้ธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาได้ดีเป็นพิเศษ และวันนี้เองที่เราพยายามเจริญชีวิตตามธรรมล้ำลึกนี้ของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ในขณะที่ในพระวิหารมีการถวายบูชายัญลูกแกะปัสกา(ยน 19: 31) ดังนั้นการถวายบูชายัญซึ่งคือพะะองค์เอง จึงเป็นการถวายบูชายัญอย่างแท้จริง และการกระทำเพียงครั้งเดียวนี้ ก็เพียงพอสำหรับตลอดไป เพราะว่าบูชายัญที่เป็นจิตได้ทำให้บูชายัญที่เป็นวัตถุไร้ประโยชน์ไป นอกนั้น เรายังมีรายละเอียดอื่นๆประกอบอีกด้วย ซึ่งช่วยทำให้เรื่องราวการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คือ ประการแรก พระเยซูเจ้ามิได้ถูกเขาหักขา อันสอดคล้องกับบทบัญญัติของชาวยิว (อพย 12: 16) ประการที่สองมีโลหิตไหลออกจากสีข้างของผู้ที่ถูกแทง โลหิตนี้ได้ประทับตราให้กับผู้ที่เป็นประชากรใหม่ อันได้แก่ผู้ที่พระเจ้าได้ช่วยให้รอดพ้น (เทียบ อพย 12: 7-13) ประการที่สามพระคริสตเจ้าทรงถูกตรึงที่ไม้กางเขนคือ ”แกะปัสกาที่แท้จริง” เป็นพระองค์เองที่เป็น “ปัสกาของเรา”ที่ได้ถูกบูชายัญ
พระเยซูเจ้าเป็น “แกะปัสกาที่แท้จริง” เพราะว่าพระองค์คือความเป็นจริงของสิ่งที่บูชายัญในสมัยบรรพบุรุษได้แสดงออกให้เห็นในการถวายเกียติแด่พระเจ้า พระองค์เป็นการช่วยให้รอดพ้นที่ประชาชาติได้รับและได้หวังไว้ เป็นพันธสัญญากับพระเจ้า เป็นพระผู้ที่บันดาลให้แผนการณ์ของพระบิดาเจ้าได้สำเร็จเป็นไป
คุณลักษณะของพระเยซูเจ้าดังกล่าวที่ได้บรรยายไว้ในพระวรสารมิใช่เป็นของใหม่แต่อย่างใดเลย บรรดาประกาศกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศกอิสยาห์ได้บรรยายคุณลักษณะของ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า”ในขณะที่ประกอบภารกิจในการช่วยให้ประชาชาติได้รับความรอดพ้น และให้เป็นที่สบพระทัยพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นเหมือนกับลูกแกะที่ไม่มีความผิดอะไรเลย แต่ว่าต้องแบกความบาปผิดของประชาชาติของพระองค์ ทั้งยอมให้ศัตรูนำไปสู่แดนประหารโดยมิได้ปริปากแต่อย่างใดเลย และเป็นเพราะการสิ้นพระชนม์ที่พระองค์ยอมรับอย่างเต็มพระทัยนี้เอง ก็ก่อให้เกิดการเป็นผู้ชอบธรรม “สำหรับคนจำนวนมาก”
การพูดโต้ตอบกับปิลาโตแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าชอบการนิ่งเงียบมากกว่า แม้ในขณะที่ผู้มีอำนาจทางฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายศาสนจักรกำลังตัดสินลงโทษพระองค์ให้ถึงตาย
เราคงจะไม่สามารถเข้าใจธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าได้อย่างครบถ้วน ถ้าหากว่าเราจะไม่ได้พินิจดูองค์พระชุมพาน้อยผู้รุ่งเรืองสุกใส พระองค์ที่กำลังยืนอยู่เฉพาะพระพักร์พระเจ้าด้วยพระวรกายอันเต็มไปด้วยบาดแผล แต่ในขณะเดียวกันพระศาสนจักรก็มุ่งไปหาพระองค์ด้วยความรักที่เต็มเปี่ยมที่สุดบนไม้กางเขน งานวิวาหมงคลขององค์พระชุมพาน้อยได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่จะสำเร็จบริบูรณ์ก็เฉพาะในงานเลี้ยงฉลองในเมืองสวรรค์ (เทียบ วว 19: 7-9)
การเดินรูป 14ภาค
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ผู้ที่ไปจาริกแสวงบุญที่กรุงเยรูซาเล็ม จะต้องหาโอกาสและเวลาที่จะเดินรำพึงตามหนทางที่พระเยซูเจ้าได้ดำเนินในระหว่างพระทรมานของพระองค์ (มรรคาศักดิ์สิทธิ์/เดินรูป 14 ภาค) และเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่คริสตชนได้นำเอาการปฏิบัตินี้มาปฏิบัติกันในท้องถิ่นของตนเอง โดยเดินตามกางเขนที่มีผู้ถือนำหน้าพลางระลึกถึงขั้นตอนต่างๆของพระทรมานที่พระเยซูเจ้าต้องรับทน และเราเรียกการปฏิบัตินี้ว่า “การเดินรูป 14ภาค”
การเดินรูป 14ภาคนี้ เรียกร้องให้ผู้ที่ปฏิบัติ ทำการรำพึงคิดถึงการทนทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดของพระเยซูเจ้าในแต่ละภาค ซึ่งในยุคเริ่มแรกยังไม่ได้มีการกำหนดบทสวดเฉพาะลงไป ทั้งยังไม่มีการเรียกชื่อสำหรับแต่ละภาคดังในยุคของเรานี้ด้วย เราควรจะให้ความสนใจในการรำพึงธรรมล้ำลึกแห่งความรัก และการอุทิศตนของพระเยซูเจ้าและของพระมารดาของพระองค์ ทั้งให้เราวิงวอนขอพระองค์ให้เรามีส่วนอย่างใกล้ชิดในยัญบูชาฝ่ายจิตของท่านทั้งสอง มากกว่าที่จะให้ความสนใจถึงลำดับขั้นตอนของเหตุการณ์ต่างๆของพระทรมานของพระองค์
พระคริสต์ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนคือการไขแสดงของพระเจ้า พระบิดาที่รักเรามนุษย์ และได้ทรงแสดงพระฤทธานุภาพของพระองค์ในความอ่อนแอและในความล้มเหลวของมนุษย์
ในขณะเดียวกัน พระคริสต์ที่ถูกตรึงที่ไม้กางเขน ก็เป็นมนุษย์ที่แท้จริงซึ่งได้ยอมมอบชีวิตของตนเพื่อคนอื่นและเพื่อพระเจ้า
ข้อสังเกตให้ไตร่ตรอง: มีคนสี่คนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์
1. ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนข้างๆพระเยซูเจ้าได้วิงวอนขอพระองค์ให้ทรงระลึกถึงเขา เมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์ (ลก 23: 39-43)
2. นายร้อยทหารโรมันได้ประกาศว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15: 39)
3. โยเซฟ ชาวอาริมาเธียซึ่งเป็นศิษย์ลับๆคนหนึ่งของพระเยซูเจ้าและเป็นสมาชิกสภาฯ ก็ได้ออกมาจากการซ่อนตัวตลอดระยะเวลาที่พระเยซูเจ้ายังมีชีวิตอยู่
4. นิโคเดมัส ก็เป็นศิษย์ลับๆอีกคนหนึ่งของพระเยซูเจ้าเหมือนกันและเป็นสมาชิกสภาฯ และก่อนนั้นได้เคยมาเฝ้าพระองค์เวลากลางคืน ก็มาพร้อมกับโยเซฟ ชาวอาริมาเธีย ทั้งสองได้ช่วยกันปลงพระศพของพระเยซูเจ้า (ยน 19: 38-42; 7: 50-52)
เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสี่คนนี้ ได้รับการเปลียนแปลงจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้ามากกว่าจากชีวิตของพระองค์ ทั้งสี่คนได้ตระหนักและยอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ใด และการยอมรับที่ว่านี้ได้นำพวกเขาไปสู่ความเชื่อ การประกาศยืนยันและการลงมือทำกิจการ
เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับพระเยซูเจ้าและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เราก็ควรจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่ความเชื่อ การประกาศยืนยันและการลงมือทำกิจการเช่นเดียวกับบุคคลทั้งสี่ที่ได้เอ่ยถึงนี้
ความกลัวที่จะยอมเปิดเผยตัวเอง ทำให้เราต้องซ่อนความเชื่อของเราจากเพื่อนฝูงคนรู้จักหรือเปล่า? หรือว่าเรากล้าที่จะเปิดตัวของเราออกมาให้คนอื่นเขารู้ว่าเรากำลังติดตามและเป็นศิษย์ของใคร?
บทความพิเศษเรื่อง “ไม้กางเขน”
ประวัติ
เรื่องของไม้กางเขน สามารถพบได้ทั้งในวัฒนธรรมคริสต์และไม่ใช่วัฒนธรรมคริสต์ ซึ่งให้ความหมายเชิงจักรวาลหรือเชิงธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ เส้นตรง 2 เส้นที่ยาวเท่ากัน ตัดกัน เป็นรูปกางเขน หมายถึง 4 มิติของจักรวาลและกางเขนสวัสดิกะของพรรคนาซีเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ที่หมุนเป็นจักรเพลิง และหมายถึงแหล่งกำเนิดของแสงสว่างและอำนาจของธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของสายฟ้าฟาด หรือในบางวัฒนธรรม หมายถึงอำนาจของการให้กำเนิด ความหมายเชิงธรรมชาติเหล่านี้ของไม้กางเขน มิได้ถูกลบล้างไปเมื่อนำไปใช้ในทางศาสนา แต่ได้รับการทำให้ความหมายดังกล่าวลึกซึ้งยิ่งขึ้น และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์มากขึ้นโดยอาศัยการพัฒนาสัญลักษณ์นิยมของคริสตศาสนา แต่ว่าในวัฒนธรรมที่มิใช่คริสตศาสนา สัญลักษณ์แห่งไม้กางเขนได้กลายเป็นวิธีการที่ใช้ลงโทษ
คริสตชนในยุคแรกๆ โดยปรกติแล้ว มักจะหลีกเลี่ยงการนำเสนอพระวรกายของพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน ซึ่งมีพยานหลักฐานให้เห็นในศตวรรษที่ ๕ และอันที่จริงตั้งแต่แรกจนถึงศตวรรษที่ ๔ แม้กระทั่งรูปไม้กางเขนธรรมดา ก็แทบจะไม่สู้ได้ปรากฎออกมาสู่สายตาของสาธารณชนด้วยซ้ำไป ซึ่งก็มีเหตุผลต่างๆดังนี้
ทั้งคนต่างศาสนาและชนชาวยิว ต่างก็มองเห็นว่าเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันอย่างที่สุดที่บรรดาคริสตชนเชื่อว่าชายคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนเป็นพระเจ้า แม้กระทั่งในหมู่พวกคริสตชนเองก็ยังถือว่าการถูกตรึงกางเขนเป็นสิ่งที่น่าอับอาย และหลายๆคนก็ยังมีความลังเลที่จะยอมรับความเป็นจริงที่ว่าพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์จริงๆ สภาพระสังคายนาแห่งเมืองเอเฟซัส(๔๓๑) และสภาพระสังคายนาแห่งเมืองคัลเซดอน(๔๕๑) เป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดสำหรับการถกเถียงกันในเรื่องของพระคริสตเจ้า(Christology) เพราะมีคริสตชนบางกลุ่มที่แลเห็นการถูกตรึงกางเขนเป็นการตรึงกางเขนพระเจ้า พวกเขารับไม่ได้ที่จะเห็นพระวรกายของพระผู้ถูกตรึงกางเขน และดังนี้พวกเขาจึงอยากนำเสนอไม้กางเขนที่ว่างเปล่ามากกว่า
ยิ่งกว่านั้นในยุคสมัยที่มีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ เพราะกลัวผู้มีอำนาจของบ้านเมืองจะรู้ว่าพวกที่นับถือไม้กางเขนเป็นคริสตชน และอีกประการหนึ่งเพราะกลัวคนต่างศาสนาจะเอาไม้กางเขนไปทำทุรจาร
นอกจากนั้น ยังมีพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าคริสตชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากพิศเพ่งดูความน่าอับอายบนกางเขนของพระเจ้าของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพลักษณ์ที่เปลือยเปล่า พวกเขาชอบมากกว่าที่จะเห็นไม้กางเขนว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของพระองค์ เป็นท่อธารแห่งชีวิต ทั้งอยากให้ไม้กางเขนเป็นวิธีการที่พระองค์ผ่านไปสู่พระเกียรติมงคลของพระเจ้าอันเป็นของพระองค์มาก่อน
ใน ๓ ศตวรรษแรก บรรดาคริสตชนได้ใช้ไม้กางเขนเป็นความศรัทธาภักดีส่วนตัว อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่ ๔ เกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา คือเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดสันติภาพในพระศาสนจักร จึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้นไม้กางเขนอีกต่อไป จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ทรงประกาศว่าพระองค์ได้แลเห็นไม้กางเขนบนท้องฟ้า และพระองค์ได้ทรงสั่งให้สลักรูปไม้กางเขนนี้บนโล่ห์ของทหารของพระองค์ทุกคน แล้วพระองค์ได้ทรงยกเลิกการถูกตรึงกางเขนว่าเป็นโทษประหารชีวิต และต่อมาไม้กางเขนก็ได้ปรากฎขึ้นทุกหนทุกแห่งตามที่ต่างๆในอาณาจักรของพระองค์
แต่ว่าเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งมากที่สุด ก็คือการค้นพบไม้กางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซูเจ้าที่กรุงเยรูซาแลมเมื่อปี ๓๒๖ และได้รับการเคารพสักการะอย่างพระธาตุที่มีคุณค่ามากที่สุดที่ยังคงหลงเหลือมาจากชีวิตบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ ไม้กางเขนนี้ได้ถูกแบ่งออกมาเป็นหลายๆส่วนด้วยกัน แต่ว่าชิ้นใหญ่ๆของไม้กางเขนที่ถูกแบ่งออกมานี้ ได้ถูกนำไปยังกรุงโรมก่อน และต่อไปยังกรุงคอนสแตนตินโนเปิล ในเวลาต่อมาไม้กางเขนนี้ก็ได้ถูกซอยออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกมากมายและถูกแจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ
ศตวรรษที่ ๕ และ ๖ เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายที่ไม้กางเขนได้รับเกียรติสูงสุด คือได้ทำด้วยทองคำและได้รับการประดับด้วยเพชรนิลจินดาเม็ดโตๆ ซึ่งก็คงไม่มีจุดประสงค์อื่นใด นอกจากเป็นนำเสนอให้เห็นถึงพระเกียรติมงคลแห่งไม้กางเขนนั่นเอง
นอกจากแนวความคิดแห่งเกียรติมงคลของไม้กางเขนแล้ว ยังมีการผนวกชัยชนะและชีวิตเข้าไปในเนื้อหาของไม้กางเขนอีกด้วย ซึ่งเราสามารถแลเห็นได้จากรูปภาพของลูกแกะของพระเจ้าที่แบกไม้กางเขนอันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของพระคริสตเจ้า และรูปภาพของต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งต้องการให้เห็นถึงความตรงข้ามกับต้นไม้แห่งความตาย หรือระหว่างต้นไม้แห่งความดีและต้นไม้แห่งความชั่วในสวนสวรรค์
การใช้ไม้กางเขน
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ที่บรรดาชาวคริสต์ใช้กันมากที่สุด ได้มีการวางไม้กางเขนไว้บนพระแท่นบูชาระหว่างพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณตั้งแต่ศตวรรษที่ ๕ ในประเทศซีเรีย แต่สำหรับภาคพื้นตะวันตก ธรรมเนียมนี้ได้มีขึ้นภายหลังนั้นมาก คือประมาณศตวรรษที่ ๑๓ในสมณสมัยของพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ ๓ ส่วนการใช้ไม้)การเขนในพิธีแห่ ได้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ ๖ เมื่อ Venantius Fortunatus ได้แต่งเพลง “Vexilla Regis Prodeunt” และในปี ๘๐๐ จักรพรรดิชาร์ลเลอมาญได้มอบไม้กางเขนสำหรับใช้แห่แด่พระสันตะปาปา เพื่อใช้ในพิธีแห่ที่กรุงโรม คื่อเมื่อขบวนแห่มาถึงที่วัดเพื่อเริ่มพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ก็ปักไม้กางเขนไว้ที่ข้างๆพระแท่นบูชา
ในระหว่างสมัยกลางจนถึงศตวรรษที่ ๑๖ ได้มีการแบ่งส่วนของพระแท่นบูชากับส่วนที่เป็นที่นั่งของสัตบุรุษโดยใช้โต๊ะศักดิ์สิทธิ์ที่สัตบุรุษเดินเข้ามาคุกเข่ารับศีล และบางทีก็ใช้แขวนไม้กางเขนขนาดใหญ่ตรงที่แบ่งส่วนทั้งสอง เพื่อมิให้ปะปนกับไม้กางเขนบนพระแท่นบูชา
ในสมัยกลาง ได้มีการแขวนไม้กางเขนบนกำแพงของอาคารใหญ่ๆ นอกเหนือไปจากที่วัดแล้ว ต่อมาก็ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ได้มีการตั้งไม้กางเขนในสุสานด้วย รวมทั้งมีการปักรูปไม้กางเขนบนผ้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนผ้าศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
การทำสำคัญมหากางเขนหรือการเดชะพระนาม
การทำสำคัญมหากางเขนหรือเดชะพระนามบนหน้าผากด้วยนิ้วโป้งหรือนิ้วชี้นั้น ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒ แล้ว แต่ว่าเป็นความศรัทธาส่วนตัว ในศตวรรษที่ ๔ ได้มีการใช้สำคัญมหาเขนกันแพร่หลายมากขึ้นในพิธีกรรม และในปลายศตวรรษที่ ๔ นี่เอง ได้มีการทำสำคัญมหากางเขนที่หน้าอก และทำที่ริมฝีปากในศตวรรษที่ ๘
ในพระศาสนจักรตะวันออก ธรรมเนียมปฏิบัติในการทำสำคัญมหากางเขนด้วยสองหรือสามนิ้วนั้น เพื่อเป็นการย้ำถึงสองพระธรรมชาติของพระคริสตเจ้า หรือหมายถึงพระธรรมชาติของพระตรีเอกภาพ และธรรมเนียมปฏิบัตินี้ได้เริ่มแพร่หลายเข้าไปในพระศาสนจักรตะวันตก ในศตวรรษที่ ๙ ทางสันตะสำนักได้มีคำสั่งให้พระสงฆ์ทำสำคัญมหากางเขนด้วยนิ้วโป้งและอีกสองนิ้วเหนือเครื่องบูชาในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ อากัปกิริยาเช่นนี้ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรตะวันออกจนถึงทุกวันนี้ และในจารีตของสันตะสำนักในพิธีเสกหรืออวยพรต่างๆ
ส่วนการทำสำคัญมหากางเขนที่หน้าผาก หน้าอก และที่บ่านั้น แม้ว่าได้ทำกันเป็นแบบความศรัทธาส่วนตัวตั้งแต่ศตวรรษที่ ๕ แล้วก็ตาม ดูเหมือนว่าจะถูกนำเข้ามาให้ปฏิบัติเป็นส่วนรวมเป็นครั้งแรกในอารามก็ในศตวรรษที่ ๑๐ และในศตวรรษที่ ๑๓ พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ ๓ได้มีคำสั่งให้ทำสำคัญมหากางเขนด้วยนิ้ว ๓ นิ้ว จากหน้าผากลงมาที่หน้าอก และจากบ่าขวาไปยังบ่าซ้าย แต่ว่าต่อมาก็ให้ใช้มือที่แบออกทำสำคัญกางเขน และให้เปลี่ยนจากบ่าซ้ายไปบ่าขวา
โดยปรกติแล้ว การทำสำคัญมหากางเขนจะต้องทำควบคู่ไปกับบทภาวนา ซึ่งได้ใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณ คือ “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” ส่วนในจารีตตะวันออก เวลาที่ทำสำคัญมหากางเขน ก็ให้ภาวนาว่า “โอ้พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ โอ้พระเจ้าผู้เข้มแข็ง โอ้พระเจ้าผู้ไม่รู้ตาย ขอทรงพระกรุณาข้าพเจ้าทั้งหลายเทอญ”
เราทำสำคัญมหากางเขนในหลายวิธีด้วยกันขณะประกอบพิธีกรรม ซึ่งก็ให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งการทำสำคัญมหากางเขน เป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ที่ถูกจารึกลงไป เสมือนหนึ่งเป็นการประทับตราลงบนร่างกายของผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป(คริสตังค์สำรอง) อันเป็นการให้ความหมายว่าเขาผู้ที่ได้รับการทำสำคัญมหากางเขนนั้น เป็นของพระคริสต์ทั้งหมด หรือว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่ออันไม่หวั่นไหวในองค์พระคริสต์ หรือว่าเป็นการยืนยันถึงพระฤทธานุภาพสูงสุดของพระคริสตเจ้าต่อสู้กับจิตชั่ว การทำสำคัญมหากางเขนสามารถเป็นการวิงวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้า เป็นการวิงวอนขอบุญกุศลที่มีไม่รู้จบสิ้นแห่งไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า และการทำสำคัญมหากางเขนสามารถใช้เป็นการอวยพรบุคคลหรือสิ่งของก็ได้
ความศรัทธาต่อไม้กางเขน
เป็นเรื่องปกติธรรมดาและมีเหตุผลที่อุปกรณ์ของการช่วยให้รอดพ้น จะต้องกลายเป็นคารวะกิจอย่างพิเศษสุด ดังนั้นความศรัทธาภักดีต่อไม้กางเขนได้เริ่มขึ้นหลังจากที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ดังที่เราสามารถมีหลักฐานจากจดหมายของนักบุญเปาโล
ใน ๑คร ๑:๑๗…พระคริสตเจ้ามิได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาทำพิธีล้างบาป แต่ทรงส่งมาประกาศข่าวดี มิใช่ด้วยการใช้โวหารอันชาญฉลาด ด้วยเกรงว่าจะทำให้ไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าเสื่อมประสิทธภาพ…
ใน อฟ ๒:๑๖…โดยทางไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนดีกับพระเจ้า รวมเป็นกายเดียว และทรงขจัดการเป็นศัตรูกันเดชะพระองค์…
ใน กท ๖:๑๔…ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่โอ้อวดสิ่งใดนอกจากเรื่องไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา อาศัยไม้กางเขนนี้ โลกถูกตรึงตายไปจากข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ถูกตรึงตายไปจากโลกแล้ว…
และใน คส ๑:๒๐…และให้สรรพสิ่งคืนดีกับพระเจ้าโดยทางพระองค์ พระคริสตเจ้าโปรดให้ทุกสิ่งมีสันติ ด้วยพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขนของพระองค์ ทั้งสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินและสิ่งที่อยู่ในสวรรค์…
และท่านนักบุญเองก็ไม่ได้เน้นมากมายนักทัศนะทางลบของไม้กางเขน ที่ว่าเป็นอุปกรณ์ใช้ทรมานมนุษย์ ดังนั้นในความความรู้สึกนึกคิดของบรรดาคริสตชน ถือว่าไม้กางเขนมีบทบาทของการช่วยให้รอดพ้นในแผนการของพระเจ้า เช่นเดียวกับพระคริสตเจ้าที่ได้เป็นผู้มีชัยเหนือความตายและบาปโดยทางพระทรมานของพระองค์ ไม้กางเขนซึ่งเป็นวิธีการของการทนทุกข์ทรมาน ก็ได้กลับกลายเป็นท่อธารแห่งชีวิต
มิใช่เฉพาะบนกำแพงของอาคารบ้านเรือนของบรรดาคริสตชน ที่ได้รับการตราด้วยสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์หรือด้วยรูปไม้กางเขนในรูปแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ว่าหินหรือวัตถุมีค่าอื่นๆ ก็ได้รับการสลักเป็นรูปไม้กางเขนด้วย ด้วยการค้นพบไม้กางเขนจริงของพระเยซูเจ้า ความศรัทธาภักดีต่อไม้กางเขนก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าพระธาตุของไม้กางเขนจะได้ถูกแจกจ่ายออกไปทั่วโลก การไปจาริกแสวงบุญยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เพื่อที่จะนมัสการไม้ศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เกิดขึ้นแพร่หลายเป็นอย่างมากเช่นกัน
เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น สภาพระสังคายนาแห่งเมืองนีเชอา ที่ ๒ (๗๘๗) ได้ประกาศว่าการกราบไหว้มนัสการไม้กางเขนของบรรดาสัตบุรุษที่มีต่อไม้กางเขนและรูปภาพของพระคริสตเจ้านั้น เท่ากับว่าเป็นการกราบไหว้นมัสการองค์พระคริสตเจ้าเอง ดังนั้นพระศาสนจักรจึงเรียกร้องให้มีการคุกเข่าต่อหน้าไม้กางเขนในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งให้มีภาคพิเศษในพิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อการกราบไหว้นมัสการไม้กางเขนอีกด้วย และบรรดาคริสตชนก็ได้รับการเชิญชวนให้เข้าจูบไม้กางเขนด้วย ทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นการประกาศชัยชนะอันทรงเกียรติของไม้กางเขนอีกด้วย
การเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมเพื่อถวายเกียรติแด่ไม้กางเขนนี้ ได้มีมาตั้งแต่ยุคแรกๆของพระศาสนจักร โดยสัมพันธ์กับการค้นพบไม้กางเขนตัวจริงและการสร้างพระวิหารถวาย ณ ที่ที่ปลงพระศพพระเยซูเจ้าและที่เนินเขากัลวารีโอที่กรุงเยรูซาเลม และในปี ๓๒๕ ได้มีการเฉลิมฉลองอย่างสง่าและยิ่งใหญ่การถวายพระวิหารทั้งสองนี้ในวันที่ ๑๓ และ ๑๔ กันยายน ต่อมาวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนนี้ ก็เฉลิมฉลองนอย่างสง่าและยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกๆปี ทั้งได้แผ่ขยายไปยังศาสนจักรตะวันออกอื่นๆ แต่ว่าพระศาสนจักรที่กรุงโรมได้รับเอาวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนนี้ในศตวรรษที่ ๗ และได้ทำการเฉลิมฉลองเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์
คุณพ่อวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช