แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
8 ธันวาคม สมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล
(Immaculate Conception of the Blessed Virgin Mary, solemnity)
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854 พระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ได้ทรงทำตามเสียงเรียกร้องของบรรดาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก ให้มีการประกาศอย่างสง่าในสมณสาส์น หรือสมณโองการของพระองค์ที่ชื่อว่า “Ineffabilis Deus” ว่าดังนี้ :
“เราขอประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ และให้คำนิยามว่า ข้อความเชื่อที่สอนว่าพระนางมารีย์พรหมจารีนั้นทรงได้รับการพิทักษ์รักษาไว้ ตั้งแต่แรกเริ่มของการปฏิสนธิของพระนางโดยพระหรรษทานและเอกสิทธิ์เฉพาะขององค์พระผู้ทรงสรรพานุภาพ และเพราะฤทธิ์กุศลทั้งมวลของพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ของมวลมนุษยชาติ ให้ทรงเป็นอิสระจากมลทินทั้งสิ้นของบาปกำเนิด นี่คือการไขแสดงจากพระเจ้า และต้องเชื่ออย่างหนักแน่นมั่นคงโดยสัตบุรุษทุกคน”
มีคำกล่าวอ้างถึงมากมายในงานเขียนของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรในสมัยแรกๆ ตั้งแต่ไม่กี่ปีหลังมรณภาพของนักบุญยอห์น ซึ่งบอกเป็นนัยถึงความเชื่อเรื่องการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์ ในพระศาสนจักรตะวันออกมีการสมโภชเรื่องนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ส่วนทางตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 การประกาศกฤษฎีกาข้อนี้นับเป็นบทสรุปสูงสุดของธรรมเนียมที่ถือกันมาหลายศตวรรษแล้ว ในเรื่องของการเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมว่าพระนางมารีย์ทรงถือกำเนิดมาโดยไม่มีบาป และสถานะชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของพระนาง
ถ้าพิจารณาจากธรรมประเพณีที่เก่าแก่ในเรื่องนี้ มีสิ่งน่าสนใจที่ควรรับรู้ว่า สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยแห่งกรุงปารีส ในปี ค.ศ. 1497 ได้เรียกร้องนักศึกษาให้คำสาบานว่าจะป้องกันและยืนยันถึงเรื่องการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์ ต่อมาหลังปี ค.ศ. 1839 บทภาวนาวอนขอแห่งโลเรโต (Litany of loreto) ได้เพิ่มคำสวดขอความช่วยเหลือเข้าไปอีกว่า “พระราชินีผู้ปฏิสนธิโดยปราศจากบาป โปรดภาวนาเพื่อเราเทอญ” และที่สื่อความหมายชัดแจ้งที่สุดคือคำยืนยันของพระนางมารีย์เองที่ว่า “ฉันคือผู้ปฏิสนธินิรมล” ( “I am the Immaculate Conception” ) ในการประจักษ์มาให้กับนักบุญ แบร์นาแดต สุบีรูส์ ที่เมืองลูร์ด ในปี ค.ศ. 1858 ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 4 ปีหลังจากประกาศข้อความเชื่อนี้ในสมณโองการ “Ineffabilis Deus” เท่านั้นเอง เหมือนกับเป็นการประกาศความถูกต้องและยืนยันข้อความเชื่อข้อนี้ของพระศาสนจักร
“มนุษย์ทุกคนได้ทำบาปในอาดัม” (เทียบคำกล่าวของนักบุญเปาโลใน รม 5:12) ดังนั้น นักเทววิทยาของพระศาสนจักรในสมัยกลางบางคน เช่น อัลเซล์ม เบอร์นาร์ด อากวีนัส และโบนาเวนเชอร์ ได้คัดค้านความคิดเรื่องการปฏิสนธินิรมลว่าจะไปลดทอนความเชื่อที่ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่แห่งสากลจักรวาล พวกเขาได้กล่าวยืนยันว่า ถ้าพระนางมารีย์มิได้แปดเปื้อนด้วยมลทินใดๆของบาปกำเนิดเลย แม้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม พระนางก็ไม่จำเป็นต้องการพระผู้ไถ่ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ขัดกับหลักการอย่างชัดเจนเรื่องที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษยชาติทั้งหมดให้รอดพ้น ดังนั้น พวกเขาเต็มใจยอมรับเพียงว่า พระนางได้รับความศักดิ์สิทธิ์ขณะอยู่ในครรภ์ อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งนี้คงอยู่มาอีกไม่นาน หลังจากที่ John Duns Scotus นักเทววิทยาคณะฟรันซิสกันจากออกซ์ฟอร์ด ได้ค้านว่า ข้อความเชื่อนี้ไม่มีทางตรงข้ามกับข้อความเชื่อเรื่องการไถ่บาปของสากลจักรวาล เขาเห็นกลับกันในแบบที่ว่า “….พระนางมารีย์ มากกว่าใครอื่นที่จะได้รับผลของบาปกำเนิด…ถ้าพระหรรษทานของพระผู้เป็นองค์กลาง (the Mediator) จะไม่ปกป้องสิ่งนี้ไว้ ดังนั้น เฉกเช่นคนอื่นๆที่ต้องการพระคริสต์ผู้จะทรงมาลบล้างบาปกำเนิดให้สิ้นไปโดยทางฤทธิ์กุศลของพระองค์ พระนางมารีย์ย่อมจะทรงต้องการมากกว่าในพระผู้เป็นองค์กลางที่ทรงมาก่อนล่วงหน้า มิฉะนั้น ก็จะทรงได้รับผลของบาปกำเนิด และมิฉะนั้นจะทรงทำบาปได้” [ In 3 sent. 3.1, Per illud patet (Vives 14.171); cf. C. Balic, I.D. Scoti theologiae marianae elementa (Sibenik 1933) 35] ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ คือ การสมโภชการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์เป็นเครื่องหมายโดยตรงถึงรุ่งอรุณแห่งพันธสัญญาใหม่ เป็นการฉลองการตระเตรียมด้วยพระทัยกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้ประชากรของพระองค์จะได้ต้อนรับพระผู้ไถ่ และองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา
“วันทา มารีย์ เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก”
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)