แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับกฎหมายการทำแท้ง
…โดย บาทหลวง ดร.เชิดชัย เลิศจิตรเลขา คณะกรรมการที่ปรึกษาเทววิทยา ในสภาประมุขบาทหลวงฯ
การทำแท้งเป็นปัญหาที่มีการโต้เถียงกันมากที่สุดปัญหาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโต้เถียงเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย หรือผลดีและผลเสียที่จะตามมา เช่น ผู้ที่สนับสนุนให้มีกฎหมายการทำแท้งได้มักอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไปแอบทำแท้งกับหมอเถื่อนตามสถานที่ต่างๆ ที่ให้บริการการทำแท้งซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหญิงเอง เพราะไม่ถูกหลักวิชาการและไม่ถูกหลักสุขอนามัย โดยในแต่ละปีมีผู้หญิงที่ต้องเสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านกฎหมายการทำแท้งก็อ้างว่า ทั้งๆ ที่การทำแท้งซึ่งเป็นการฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ มีกฎหมายห้ามและมีบทลงโทษ แต่ก็ยังมีผู้ที่ลักลอบทำแท้งกันมากมาย ดังนั้น ถ้ากฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คงจะมีทารกผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมากถูกฆาตกรรม โดยจะกลายเป็นการฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
รายงานฉบับนี้ จะพิจารณาถึงปัญหาศีลธรรมเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง ในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) เหตุผลที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขกฎหมายห้ามทำแท้ง
2) คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง
3) ศักดิ์ศรีและสถานภาพความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์
4) ความขัดแย้งของมโนธรรมต่อกฎหมายการทำแท้งที่ผิดศีลธรรม
5) มโนธรรมของคริสตชนในการเผชิญหน้ากับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม และ
6) แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในเรื่องสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล และเวชบุคคล ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้บริสุทธิ์
………………………………………………………………………………………
1. เหตุผลที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขกฎหมายห้ามทำแท้ง
ตามกฎหมายไทย การทำแท้งเป็นความผิดอาญาฐานทำให้แท้งลูก ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ซึ่งสรุปได้ว่า 1) ในกรณีที่หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก หญิงนั้นมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก 2) ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมหรือโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ผู้นั้นมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก และ 3) และหากการทำแท้งนั้นเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย หรือเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น
ดังนั้น การทำแท้งจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นเป็นการตั้งครรภ์ที่มีผลมาจากการถูกข่มขืน หรือการตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงนั้นที่ตั้งครรภ์ เงื่อนไขนี้ทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จากสาเหตุอื่นๆ เช่น ตั้งครรภ์เพราะมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ไม่สามารถทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงเหล่านี้พึ่งพาคลินิกทำแท้งเถื่อนดังที่เป็นข่าว ในอดีตมีความพยายามจะแก้กฎหมาย มาตรา 305 หลายครั้ง ช่วงเวลาที่ไปได้ไกลที่สุดคือ ระหว่างการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งระบุว่าจะต้องแก้ มาตรา 305 โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายอีก 2 ประการ คือ 1) เมื่อผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือจิต และ 2) เมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการคุมกำเนิดล้มเหลวจากการปฏิบัติของแพทย์
เมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูกหรือ “ทำแท้ง” โดยมีที่มาคือ ก่อนหน้านั้นได้มีผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกมีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 28 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” และเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 คือ
กำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีความผิดและต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน
เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีต่างๆ ที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง และกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ “ทำแท้ง” โดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของแพทย์สภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขลดอัตราโทษ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ผู้ทำแท้งต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก โดยมีรายละเอียดดังนี้ “มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับมาตรา 305 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ “มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด 1) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น 2) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ และ 4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์”….…..(ต่อฉบับหน้า>>…)