• หน้าแรก
  • เกี่ยวกับอาสนวิหาร
    • ประวัติอาสนวิหารอัสสัมชัญ
    • สถาปัตยกรรม
    • บรรณฐาน
    • ภาษาลาตินในวัด
    • กระจกสี / stained-glass
    • รูปนักบุญ / saint sculpture
  • บริการต่างๆ
    • ล้างบาปทารก / Baptisms
    • การถ่ายภาพ / Take pictures
    • แต่งงาน / wedding
  • ติดต่อสอบถาม/Contact us
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับอาสนวิหาร
    • ประวัติอาสนวิหารอัสสัมชัญ
    • สถาปัตยกรรม
    • บรรณฐาน
    • ภาษาลาตินในวัด
    • กระจกสี / stained-glass
    • รูปนักบุญ / saint sculpture
  • บริการต่างๆ
    • ล้างบาปทารก / Baptisms
    • การถ่ายภาพ / Take pictures
    • แต่งงาน / wedding
  • ติดต่อสอบถาม/Contact us

2021-02-07 คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับกฎหมายการทำแท้ง

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับกฎหมายการทำแท้ง

…โดย บาทหลวง ดร.เชิดชัย เลิศจิตรเลขา คณะกรรมการที่ปรึกษาเทววิทยา ในสภาประมุขบาทหลวงฯ

…………………………..ต่อจากฉบับที่แล้ว…………………………………..

4. ความขัดแย้งของมโนธรรมต่อกฎหมายการทำแท้งที่ผิดศีลธรรม

กฎหมายบ้านเมืองที่มีผลบังคับใช้ในการปฏิบัติในสังคมและมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งมีลักษณะที่เป็นรูปธรรม (concrete) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของกฎหมายดังกล่าวคือ สามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติได้โดยตรง แต่ข้อเสียคือ ความไม่สมบูรณ์ของกฎหมาย กล่าวคือ โดยธรรมชาติกฎหมายบ้านเมืองมักจะมีช่องว่างอยู่เสมอ เพราะผู้ที่มีอำนาจออกกฎหมายไม่สามารถบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมความเป็นศีลธรรมในทุกสถานการณ์โดยที่ไม่มีข้อยกเว้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและเข้ากับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

กฎหมายบ้านเมืองที่สอดคล้องกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติเท่านั้น จึงจะสามารถมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ แต่ถ้ากฎหมายขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติก็จะขาดอำนาจความเป็นกฎหมายในทันที และโดยธรรมชาติแล้วไม่มีกฎหมายฉบับใดที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน (imperfect law) เพราะกฎหมายไม่สามารถครอบคลุมคุณค่าศีลธรรม (moral values) ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน เพราะช่องว่างของกฎหมาย ดังนั้น ในสถานการณ์ที่กฎหมายมีช่องว่าง ประชาชนที่อยู่ในสังคมที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบจำต้องประยุกต์คุณธรรม epikeia ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มุ่งปฏิบัติตามเจตนารมณ์หรือจุดมุ่งหมายของกฎหมาย (spirit of the law) มากกว่าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายตามตัวอักษร (letter of the law)

นอกจากกฎหมายบ้านเมืองจะมีช่องว่างและไม่ยุติธรรมแล้ว (unjust law) กฎหมายอาจจะผิดศีลธรรม (immoral law) ก็ได้ ถ้ากฎหมายดังกล่าวขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ (natural moral law) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เช่น การทำแท้ง ซึ่งขัดกับสิทธิในการถือกำเนิด การุณยฆาตซึ่งขัดกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การค้ามนุษย์ซึ่งขัดกับสิทธิในการดำเนินชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี เป็นต้น

ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 (ที่เป็นกฎหมายที่ใช้มานานถึง 52 ปี) ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 28 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเอง” จนนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูก และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และขั้นต่อไปจะมีการส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วจึงเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายที่อนุญาตให้เปิดโอกาสให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้จึงเป็นกฎหมายที่ผิดศีลธรรม เพราะขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ ที่ชีวิตมนุษย์ควรได้รับการเคารพและไม่สามารถละเมิดได้ตั้งแต่การปฏิสนธิ

5. มโนธรรมของคริสตชนในการเผชิญหน้ากับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม

คำสอนของพระศาสนจักรสอนว่า มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของมโนธรรมของตนเอง สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่อง พระศาสนจักรในโลกสมัยใหม่ “ความปีติยินดีและความหวัง” (Gaudium et Spes) ข้อที่ 16 กล่าวถึงธรรมชาติของมโนธรรมไว้ว่า “มนุษย์ค้นพบว่า ในส่วนลึกของมโนธรรมมีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่ตนไม่ได้เป็นผู้กำหนดให้เพื่อตนเอง แต่เขาต้องเชื่อฟัง และเสียงของกฎนี้เชิญชวนเขาอยู่ตลอดเวลาให้ทำความดีและหลีกหนีความชั่ว และเมื่อใดถึงเวลาที่จำเป็นกระซิบอยู่ในหูของหัวใจว่า “จงทำการนี้ จงหลีกเลี่ยงการนั้น” อันที่จริง มนุษย์มีกฎที่พระเจ้าทรงจารึกไว้ในใจของตน การเชื่อฟังกฎนี้จึงเป็นศักดิ์ศรีของเขา และเขาก็จะถูกพิพากษาตัดสินตามกฎนี้” (เทียบ รม. 2: 14-16) และยังกล่าวต่อไปว่า “มโนธรรมเป็นจุดลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมนุษย์ ที่จุดนี้ มนุษย์อยู่เป็นส่วนตัวเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งตรัสกับเขาในส่วนลึกของจิตใจ มโนธรรมทำให้กฎนี้ปรากฏแจ้งอย่างน่าพิศวงว่า การปฏิบัติตามกฎอย่างสมบูรณ์ คือ ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ คริสตชนจึงพยายามแสวงหาความจริงร่วมกับเพื่อนมนุษย์โดยความซื่อสัตย์ต่อมโนธรรม” ด้วยเหตุนี้เอง จึงสังเกตได้ว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ที่การตัดสินใจกระทำตามคำสั่งของมโนธรรมของตนเอง

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูกเป็นกฎหมายบ้านเมืองที่ผิดศีลธรรม (immoral law) เพราะขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ กฎหมายบ้านเมืองที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฎศีลธรรมธรรมชาติเท่านั้น จึงมีผลบังคับต่อมโนธรรม และกฎหมายที่ผิดศีลธรรมจึงไม่มีผลบังคับต่อมโนธรรมของประชาชนและไม่ต้องปฏิบัติตาม ประชาชนที่มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบ จำต้องต่อต้านกฎหมายที่ผิดศีลธรรมอย่างแข็งขัน โดยมีลำดับของความเข้มข้น โดยเริ่มจากการปฏิเสธในการให้ร่วมมือจนถึงขั้นการชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธี ซึ่งการยอมสู้ทน (tolerance) หรืออหิงสาเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับบุคคลที่อยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะต่อกฎหมายบ้านเมืองที่ผิดศีลธรรม

การตัดสินมโนธรรมของคริสตชนที่เผชิญกับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม ในหนังสือกิจการอัครสาวกนักบุญเปโตรกล่าวว่า “ควรที่จะเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (เทียบ กจ 5:29) ซึ่งในสมัยอัครสาวกถือว่าการนอบน้อมเชื่อฟังพระเจ้าเป็นการตัดสินใจในระดับมโนธรรมของตน ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างมโนธรรมกับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม คริสตชนและมนุษย์ทุกคนจำต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของมโนธรรมของตนเอง

นอกนั้น ธรรมนูญใหม่ฯ ข้อที่ 59 กล่าวถึงการคัดค้านที่เกิดจากมโนธรรมเมื่อมีกฎหมายทำแท้งว่า “เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ ผู้ทำงานด้านสุขภาพอนามัยต้อง ‘ปฏิเสธอย่างสุภาพแต่หนักแน่น’ มนุษย์ไม่สามารถเชื่อฟังกฎหมายที่ผิดศีลธรรม เช่น กรณีของกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ตามหลักการที่ว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจละเมิดชีวิตมนุษย์ที่ทำลายไม่ได้ เพราะกฎของพระเจ้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตต้องมาก่อนกฎหมายใด ๆ ของมนุษย์ เมื่อกฎหมายของมนุษย์ขัดแย้งกับมโนธรรมต้องยืนยันถึงสิทธิประการแรกและความเป็นเลิศสูงสุดของบัญญัติของพระเจ้า ‘เราต้องนบนอบเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์’ (กจ 5:29)” (เทียบ ธรรมนูญใหม่ฯ ข้อ 59)6. แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในเรื่องสุขภาพ

บทสรุปในแนวทางการปฏิบัติสำหรับบรรดาผู้ที่ทำงานด้านการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสำหรับแพทย์ พยาบาล และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จากสภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลกในปี ค.ศ. 1974 สามารถสรุปเนื้อหาได้ดังต่อไปนี้

  1. โรงพยาบาลคาทอลิกไม่สามารถให้การบริการการทำแท้งได้ ไม่ว่ากฎหมายจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม และพวกเขาก็ไม่สามารถร่วมมือในการให้บริการดังกล่าวได้แม้แต่การร่วมมือในด้านการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ (material cooperation)
  2. แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพที่ทำงานในแผนกซึ่งให้การบริการการทำแท้งในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่ของคาทอลิก ไม่สามารถปฏิบัติงานในแผนกนี้อย่างผู้ที่มีมโนธรรมถูกต้องได้
  3. แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพควรที่จะเป็นประจักษ์พยานต่อสาธารณชนในความเชื่อแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ความเป็นของบุคคลทั้งครบ คุณค่าของชีวิตในทุกขั้นตอน และการมีความเมตตากรุณาต่อผู้เจ็บป่วย
  4. แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพควรร่วมลงชื่อด้วยมโนธรรมของตน ในการปฏิเสธให้ความร่วมมือต่อสถานพยาบาลที่มีการทำแท้ง
  5. การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอย่างหนัก โรงพยาบาลคาทอลิกที่ให้บริการทำแท้งหรือรับบริการการทำแท้งหรือชักชวนให้ผู้อื่นทำแท้ง ก็ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ซึ่งขัดกับพระบัญญัติแห่งความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์
  6. การให้ความร่วมมือในการทำแท้งถึงแม้ว่าจะเป็นการร่วมมือประเภทจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมก่อนล่วงหน้า (the remote material cooperation) แต่เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อ คริสตชนพยาบาลควรหลีกเลี่ยงในการกระทำนั้น ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นสิ่งชั่วในตัวมันเองก็ตาม
  7. กฎหมายของพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อที่ 1398 กล่าวถึงผู้ที่กระทำหรือได้รับการกระทำหรือชักชวนให้ผู้อื่นกระทำแท้งด้วยความสมัครใจว่า เขาตัดตนเองออกจากพระศาสนจักรโดยอัตโนมัติ (automatic excommunication) โดยที่จุดประสงค์ของการขับออกจากพระศาสนจักรนี้ ก็เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงธรรมเนียมของคริสตชนในสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่ประกาศว่า “การทำแท้ง การฆ่าทารก เป็นการฆาตกรรมที่ไม่มีข้อโต้แย้ง” แต่แน่นอนที่สุดการตัดตนเองออกจากพระศาสนจักรนี้ใช้กับผู้ที่กระทำการนี้ด้วยความรู้ตัวและด้วยความเต็มใจในการกระทำผิด แต่พวกเขาสามารถกลับคืนสู่พระ ศาสนจักรได้อีก ในการกลับใจ ในศีลอภัยบาป ในการเป็นทุกข์เสียใจ เพราะพระศาสนจักรต้องการความรอดพ้นของวิญญาณเหนือสิ่งอื่นใด…

เกี่ยวกับวัดฯ

  • ประวัติอาสนวิหาร
  • แม่พระอัสสัมชัญ
  • บรรณฐาน
  • สถาปัตยกรรม
  • กระจกสี
  • ภาษาลาตินในวัด

บริการต่างๆ

  • ล้างบาปทารก / Baptisms
  • แต่งงาน / Wedding
  • การขออนุญาตถ่ายภาพ

สารวัดย้อนหลัง

  • บทสนทนาจากเจ้าอาวาส
  • คิดสักนิด...สะกิดใจ...
  • ปลัดแก่ ซอย40
  • ปี 2012

บุคลากร/องค์กรต่างๆในวัด

  • พระสงฆ์
  • สำนักงานวัด
  • สภาภิบาล
  • นักขับร้อง
  • สโมสรเยาวชน

ลิงค์คาทอลิก

  • สภาสังฆราชคาทอลิกประเทศไทย
  • อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
  • หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลฯ
  • สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
Facebook-f Youtube