แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
ให้อภัยเป็นกิจปฏิบัติที่ต้องทำ มิใช่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
Forgiveness does hot Change the past, but it does Change the future.
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเน้นความเกี่ยวพันอย่างตรงไปตรงมา ระหว่างการขออภัยจากพระเจ้ากับการให้อภัยผู้อื่น เป็นเนื้อความในบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา…” คริสตศาสนิกชนต้องเปิดใจสู่การให้อภัยและให้อภัยตลอดเวลา พระสันตะปาปาทรงอธิบายหลักคำสอนจากเนื้อความของพระวรสารตามคำบอกเล่าของ น. มัทธิว (18:21-35) เรื่องการให้อภัยความผิดพร้อมอุปมาเรื่องลูกหนี้ไร้เมตตา พระองค์ทรงชี้ชัดว่าการให้อภัยนี้เป็นสิ่งจำเป็น ที่ไม่ปฏิเสธความผิดที่ได้กระทำไป แต่ยอมรับรู้ว่ามนุษย์ผู้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่กว่าความผิดที่เขาได้กระทำลงไป’
ความรักอันเปี่ยมล้นของพระเจ้า
พระเจ้าทรงอภัยโทษเราตั้งแต่เมื่อเรารับศีลล้างบาป โดยการยกหนี้ความผิดอันยากจะลบได้ คือ บาปกำเนิด จากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ทรงอภัยความผิดต่างๆ อาศัยเครื่องหมายแห่งการเป็นทุกข์ของ เรา พระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงรักและเมตตาทรงมีพระประสงค์ให้คริสตชนเป็นเหมือนพระองค์ คือ “ฉายาลักษณ์/ภาพสะท้อนของพระองค์” โดยการรู้จักให้อภัย “ตลอดเวลา” พระสันตะปาปาทรงอธิบายว่าด้วยความหมายในทำนองนี้เอง ที่องค์พระเยซูตอบเปโตร ผู้ถามพระองค์ว่า ต้องให้อภัยคนอื่นสักกี่ครั้ง เพราะคิดว่าเจ็ดครั้งก็เกินพอแล้ว และพระองค์ตรัสตอบในพระวรสารว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่า ต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” การให้อภัยของพระเจ้าคือเครื่องหมายของความรักอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่มีต่อเราแต่ละคนเป็นความรักที่ปล่อยเราให้เป็นอิสระ ถ้าเราต้องการออกห่างจากพระองค์ เหมือนลูกคนเล็กในพระวรสารที่ไม่รักดี แต่พระองค์ทรงรอการกลับมาของเราทุกวันเป็นความรักที่กล้าได้กล้าเสียของผู้เลี้ยงแกะคนนั้นที่กล้าออกไปตามหาแกะที่หลงฝูง เป็นความรักอ่อนโยนที่พร้อมต้อนรับคนบาปผู้เข้ามาเคาะที่ประตู แต่พระเจ้าไม่ทรงสามารถมอบความรักนี้ได้ หากประตูใจของเราปิดสนิท ไม่ยอมเปิดสู่คนอื่น และไม่ยอมรักคนอื่น และเพื่อให้ความสัมพันธ์โดยตรง ระหว่างการให้อภัยที่เราขอจากพระเจ้า กับการให้อภัยที่เราต้องให้เพื่อนพี่น้อง ฝังอย่างลุ่มลึกลงในใจของคริสตชน พระคริสต์ทรงแทรกเนื้อความของการให้อภัยใน “บทข้าแต่พระบิดา” “โปรดประทานอภัยแก่ลูก เหมือนลูกให้อภัยผู้อื่น”
ยากที่จะให้อภัย แต่…
สำหรับผู้เปิดใจลำบากต่อผู้ที่เคยทำให้ซ้ำใจแล้วกลับมาขออภัย พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเสนอให้ดูคำตอบของกษัตริย์ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของ น. มัทธิว (18:32-33) “ข้ายกหนี้สินทั้งหมด เพราะเจ้าขอร้อง เจ้าต้องเมตตาเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกันเหมือนที่ข้าได้เมตตาเจ้ามิใช่หรือ” คนใช้ผู้ได้รับการยกหนี้ควรรู้ว่าตนเองได้ “มีประสบการณ์แห่งปีติยินดีแห่งสันติและอิสรภาพ เมื่อรู้ว่าตนได้รับการอภัย เพื่อสามารถปิดใจต่อความเป็นไปได้ในศักยภาพของการให้อภัยผู้อื่น”
การให้อภัย คือผลงานชิ้นโบว์แดงของธรรมล้ำลึกแห่งปัสกา เพราะทำให้พวกเราคืนดีกับพระเจ้าพระบิดาและกับเพื่อนพี่น้อง เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของพิธีกรรมของเครื่องหมาย (ศีล)ศักดิ์สิทธิ์ ของน้ำแห่งการชำระล้าง และการฟื้นฟูเครื่องหมาย (ศีล)แห่งการคืนดีทุกย่างในพิธีกรรม จึงเป็นกิจการอันผุดผ่องของพระคริสต์ และพระพรของพระองค์ช่วยพวกเราให้รู้จัก และสามารถให้อภัยกันและกัน พระคริสต์ทรงให้อภัยเรา และเป็นพระองค์ ‘ในพวกเรา’ ที่ให้อภัยผู้อื่น ผ่านทางการให้อภัยนี้ เราได้รับการปรับให้สอดรับกับวิธีรักของพระบิดา และเราก้าวเดินเข้าบ้านของพระองค์ผ่านทางการให้อภัยนี้
การเดินในหนทางแห่งการให้อภัยเรียกร้องเราให้มีความกล้าหาญ แต่พระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสว่าการให้อภัยคือ “แก่นหลักของชีวิตคริสตชน” ดังนั้น ‘การไมไห้อภัย’ ก็คือ ‘ตัดสินลงโทษคนบาป, นั่นหมายความว่า ตัดสายสัมพันธ์แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกับผู้กระทำผิด และในเวลาเดียวกันเราก็ดูถูกดูหมิ่นความรักเมตตาของพระเจ้า ผู้ไม่ทรงละทิ้งลูกๆ ของพระองค์เลย
ในเรื่องเปรียบเทียบ “ลูกเสเพล/พ่อผู้มีใจเมตตา” ในพระวรสาพี่ชายไม่ให้อภัยน้อง เพราะเขาไม่ว่าน้องของตน ความไม่เสมอภาคเกิดขึ้นและกัดกร่อนหัวใจเขา ถ้าเราไม่ห่วงใยคนอื่นอีกมากมาย ผู้หิวโหยผู้ปราศจากความรู้ ไร้ที่อยู่อาศัย และเมื่อมีโอกาสเราไม่ช่วยเขา กลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เฉยเมย เราจะภาวนาได้อย่างไรว่า “โปรดประทานอภัยแก่ลูกเหมือนลูกให้อภัยแก่ผู้อื่น”
ดูเหมือนเป็นการยากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องให้อภัยผู้อื่น เพราะเรากำลังเจริญชีวิตอยู่ในบรรยากาศของความเกลียดชังกัน ความอิจฉาริษยาแก่งแย่งชิงดี มุ่งเอารัดเอาเปรียบ โดยหวังได้หน้าและพบความสำเร็จบรรยากาศเหล่านี้ เป็นเสมือนยาพิษที่กำลังซึมเข้าในเส้นเลือดหัวใจอันแข็งกระด้างของมนุษย์ ทำให้การค้นพบความสงบและศานติอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ แต่พระสันตะปาปาตรัสว่า “แม้เป็นการยากที่ต้องให้อภัยผู้อื่น แต่เป็นหนทางแท้ที่เราต้องเดิน หากเราต้องการให้โลกเปลี่ยนแปลง เราต้องมอบโอกาสให้อีกฝ่ายได้เปลี่ยนตนเอง”
การให้อภัยจึงเป็นแก่นแท้ของความรักที่พยายามแก้ไขความผิดพลาด และช่วยหาวิธีเยียวยารักษาให้หายขาด
ที่มา: นิตยสารแม่พระยุคใหม่ นิตยสารราย 2 เดือน ฉบับที่ 235 ปีที่ 40 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2021/2564 หน้า 19-20