ข้อคิดอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต ปี B
ยน 12: 20-33…ถ้าเมล็ดข้าวได้ตกลงในดินและตายไป…มันก็จะบังเกิดผลมากมาย…ข้าแต่พระบิดาเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้…โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามของพระองค์เถิด…เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา
เมล็ดข้าวต้องเปื่อยเน่าตายไปเพื่อที่จะบังเกิดผล เช่นเดียวกัน เราต้องตายต่อตัวเราเองเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความเป็นมนุษย์และอย่างลูกของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อรับใช้พระเจ้าและรับใช้เพื่อนพี่น้อง
ข้อคิด…ในบทอ่านแรก (ยรม 31: 31-34) ท่านประกาศกเยเรมีย์ได้กล่าวถึงพันธสัญญาฉบับใหม่ระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ พันธสัญญาฉบับใหม่นี้ได้ถูกกระทำขึ้นโดยการสิ้นพระชนม์ขององค์พระเยซูเจ้า “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” (ลก 22: 20)
ในบทอ่านที่สอง (ฮบ 5: 7-9) ก็เป็นเสียงสะท้อนว่า “พระบุตรทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน” อันทำให้การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์มหาศาลสำหรับมนุษยชาติ เพราะพระองค์ได้กลายเป็นท่อธารแห่งชีวิตนิรันดรสำหรับทุกๆคนที่นอบน้อมเชื่อฟังพระองค์
ส่วนในพระวรสาร …พระเยซูเจ้าได้พูดถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ แต่พระองค์ก็ทรงตระหนักดีว่านั่นเป็นพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า…พระเยซูเจ้าได้ใช้ตัวอย่างของเมล็ดข้าวที่ต้องเน่าเปื่อยตายไป เพื่อที่จะออกผลผลิตมากมาย อันมีนัยยะว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เอง ก็จะบังเกิดผลมากมายเช่นกัน
นักบุญยอห์น ไม่ได้เล่าเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นในสวนมะกอกในพระวรสารของท่าน แต่มีรายงานที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันที่บอกว่า “บัดนี้ใจของเราหวั่นไหว” (ยน 12: 27) และในพระวาจาของพระองค์ที่ว่า “เราควรจะขอร้องพระบิดาเจ้าโปรดช่วยให้พ้นจากเวลานี้หรืออย่างไร?” (ยน 12: 27) อันสอดคล้องกับการอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในสวนเกทเสมนีในพระวรสารของนักบุญมาระโก (มก 14: 36)
มีหลายๆคนที่ชอบพูดว่าวีรบุรุษหรือไอดอลของพวกเขาต้องเป็นคนที่เข้มแข็งและไม่ออกอาการอ่อนแอให้แลเห็น และต้องไม่ออกอาการลังเลหรือสงสัยหรือกลัว แม้นว่าคนที่จะเป็นวีรบุรุษหรือไอดอลในดวงใจของคนอื่นๆได้ ต้องเป็นคนเข้มแข็งและกล้าในทุกเวลาและในทุกสภาพแวดล้อม แต่ว่าในความเป็นจริงวีรบุรุษที่แท้จริงก็มิได้เป็นอย่างนั้น
พระเยซูเจ้าเองก็มิได้ไปเผชิญความตายอย่างมั่นอกมั่นใจแต่อย่างใด พระองค์ได้มีช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดในสวนเกทเสมนีเมื่อดวงวิญญาณของพระองค์อยู่ในอาการแห่งความทุกข์กังวลอย่างแสนสาหัส จนกระทั่งพระองค์ต้องเอ๋ยปากออกมาว่า “ใจเราเป็นทุกข์แทบสิ้นชีวิต” (มก 14: 34) แม้นว่าพระวรสารของนักบุญยอห์นไม่มีเรื่องเล่าของการเข้าตรีทูตในสวนเกทเสมนี แต่พระองค์ก็ได้แสดงอาการความรู้สึกออกมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในสุนทรพจน์ที่พระองค์กล่าวกับสานุศิษย์ในระหว่างรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ให้ดู ยน 14-17)
ถ้าเราจะได้พินิจพิเคราะห์ดูให้ดีๆ จะเห็นว่าการเข้าตรีทูตของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนีนั้น น่าจะเป็นส่วนที่ให้ความบรรเทาใจมากที่สุดในพระวรสารตอนหนึ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้ามีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ยิ่งกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่าพระองค์ยอมเดินเข้าสู่โชคชะตากรรมของพระองค์อย่างใจเด็ดเดี่ยว แต่ว่าขณะนี้ ช่วงเวลาอันน่าสะพึงกลัวกำลังมาถึงแล้ว พระองค์กำลังอยู่ในสภาพที่หมดหวังอย่างที่สุดจนว่าเหงื่อของพระองค์ที่ตกลงยังพื้นดิน ได้กลายเป็นหยดเลือด พระองค์กำลังรู้สึกสุดๆกับพระทรมานของพระองค์ เราคงอยากจะตั้งคำถามว่า “พระเยซูเจ้าได้พละกำลังที่จะเผชิญหน้ากับการทรมานอันแสนสาหัสนี้จากที่ไหน?” …ก็จากการอธิษฐานภาวนา นั่นก็คือจากพระเจ้านั่นเอง มีบางคนได้ให้คำนิยามของความกล้าหาญว่าดังนี้ “ความกล้าหาญก็คือความกลัวที่ได้พูดออกมาเป็นคำอธิษฐานภาวนา”
คงจะไม่ใช่ “คน” หรือ “มนุษย์” ถ้าหากมิได้มีความรู้สึกกลัวเมื่อถูกภัยอันตรายคุกคาม ความกล้าหาญมิใช่กลัวไม่เป็น มีความกลัวได้ แต่ต้องเดินออกไปเผชิญหน้ากับมันอย่างไม่สะทกสะท้าน… “คนที่ไม่เคยรู้สึกกลัว ไม่ใช่วีรบุรุษ แต่คนที่สามารถเอาชนะความกลัวได้ นั่นแหละคือวีรบุรุษ”
การเข้าตรีทูตของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนี ให้ความบรรเทาใจและความหวังแก่เราในช่วงเวลาที่เราตกต่ำท้อถอย ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปเสแสร้งว่าเราทำด้วยหินแกรนิตที่ไม่มีวันแตกสลาย…เราจะต้องไม่ซ่อนความอ่อนแอและความกลัวของเรา เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า เราต้องหันไปหาพระเจ้าด้วยคำอธิษฐานภาวนาที่ออกมาจากหัวใจ และเราก็คงจะต้องแสวงหาความบรรเทาใจจากมนุษย์ด้วย เหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าเองซึ่งได้ขอร้องให้เปโตร ยากอบและยอห์น ให้ตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนากับพระองค์
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์