บทอ่านจากคำบรรยายข้อความจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ โดยนักบุญเอวเซบีโอ
แห่งซีซาเรอา พระสังฆราช
เสียงร้องในถิ่นทุรกันดาร
“มีเสียงร้องในถิ่นกันดารว่า จงเตรียมทางของพระเจ้า จงตัดทางของพระองค์ให้ตรง” เป็นที่แจ้งชัดว่าเหตุการณ์ตามคำทำนายนั้นจะสำเร็จลงไม่ใช่ที่เยรูซาเล็ม แต่ในถิ่นกันดาร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าจะปรากฏที่นั่น และมนุษยชาติจะล่วงรู้ถึงความรอดของพระเจ้า
ในถิ่นกันดารนั้น ท่านยอห์นได้ป่าวประกาศถึงการช่วยให้รอดของพระเป็นเจ้า และที่นั่นเองมนุษย์ได้เห็นความรอดของพระเป็นเจ้า คำทำนายได้สำเร็จลงเมื่อพระคริสตเจ้าพร้อมด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ปรากฏแก่มนุษย์ทุกคน เมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้ว ท้องฟ้าเปิดออก พระจิตเจ้าเสด็จมาเหนือพระองค์ในรูปนกพิราบ และมีพระสุรเสียงของพระบิดาตรัสยืนยันถึงพระบุตรว่า “นี่คือบุตรสุดที่รัก ของเรา จงฟังพระองค์เถิด”
ตั้งแต่แรกเริ่ม คำทำนายบ่งบอกถึงการที่พระเจ้าจะต้องเสด็จมาในถิ่นกันดาร ซึ่งเข้าไปไม่ถึงบรรดาคนต่างศาสนาไม่มีโอกาสจะเรียนรู้จักพระเจ้า เพราะบรรดาผู้ชอบธรรมและประกาศกถูกห้ามไม่ให้เข้าไปหาพวกเขา มีเสียงสั่งให้เตรียมทางสำหรับพระวจนาตถ์ของพระเจ้า พื้นดินที่หยาบและขรุขระจงปรับให้เรียบ เพื่อว่าเมื่อพระเจ้าของเราเสด็จมาจะได้ทรงพบหนทางที่ราบเรียบ “จงเตรียมทางของพระเจ้า” หนทาง คือการเทศน์สอนถึงพระวรสาร ข่าวสารใหม่แห่งความบรรเทา พร้อมที่จะนำมนุษยชาติมารู้จักอำนาจช่วยให้รอดของพระเป็นเจ้า
“จงขึ้นไปบนภูเขาสูง ผู้ประกาศข่าวดีแก่ศิโยน จงร้องให้สุดเสียง ผู้ประกาศข่าวดีแก่เยรูซาเล็ม” ถ้อยคำเหล่านี้สอดคล้องกับความหมายของข้อความที่ได้ยกมาอ้างในตอนแรกเป็นอย่างดี อ้างถึงบรรดาผู้ประกาศข่าวดีอย่างเหมาะสม และประกาศการที่พระเจ้าเสด็จมาหามนุษย์ หลังจากที่ได้กล่าวถึงเสียงร้องในถิ่นกันดาร เป็นการเหมาะสมที่จะกล่าวถึงบรรดาผู้ประกาศข่าวดี หลังจากที่ได้กล่าวถึงการทำนายของ ยอห์น บัปติสต์
ศิโยน หมายถึงอะไร ถ้าไม่ใช่นครซึ่งแต่ก่อนนี้เรียกกันว่าเยรูซาเล็ม นี่คือภูเขาซึ่งในพระคัมภีร์กล่าวว่า “ที่ท่านบรรลุถึงนี้ คือภูเขาศิโยน” ท่านอัครสาวกกล่าวว่า “ท่านได้มาถึงภูเขาศิโยน” ถ้อยคำนี้ไม่ได้พาดพิงถึงคณะอัครสาวกซึ่งถูกเลือกมาจากประชากรเดิมที่ได้รับพิธีสุหนัตกระนั้นหรือ?
นี่คือศิโยน เยรูซาเล็มซึ่งได้รับความรอดของพระเจ้า ตั้งตระหง่านอยู่บนภูเขาของพระเจ้า นั่นคือได้รับการเชิดชูให้สูงเด่นโดยพระวจนาตถ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสั่งให้ขึ้นไปบนภูเขาสูง และประกาศพระวาจาแห่งความรอด ใครเล่าเป็นผู้ประกาศข่าวดี ถ้าไม่ใช่คณะผู้ประกาศพระวรสาร? การประกาศข่าวดีจะหมายถึงอะไร ถ้าไม่ใช่การเทศน์สอนถึงการบังเกิดมาในโลกของพระคริสตเจ้าแก่นานาชาติ แต่ก่อนอื่นหมดให้ประกาศในหัวเมืองยูดาห์…
ยอห์นดำรงชีวิตในถิ่นทุรกันดารและตั้งมั่นประกาศข่าวดีในถิ่นทุรกันดาร พี่น้องที่รัก เมื่อพูดถึง “ถิ่นทุรกันดาร” เราเห็นภาพของพื้นที่ซึ่งยังไม่เจริญหรือล้าหลัง เราเห็นภาพของสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เราเห็นภาพของผู้คนที่ยากจน เราพบความขาดแคลนของผู้คนในเรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ ถิ่นทุรกันดารไม่ได้อธิบายถึงสภาพทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีนัยแฝงที่สะท้อนถึงสภาวะทางด้านจิตใจของผู้คนที่แห้งแล้ง ไม่มีชีวิตชีวา โศกเศร้า ฯลฯ ท่านยอห์นเลือก “กันดารวิถี” เป็นรูปแบบชีวิตที่แสดงถึงการ “ถ่อมตนและรอคอย” และใช้ถิ่นทุรกันดารเป็นที่ตั้งมั่นในการประกาศข่าวดี ก็เพื่อให้ผู้คนมีความหวังที่จะหลุดพ้นจากความแห้งแล้งเมื่อเลือกที่จะ “กลับใจ” และได้พบชีวิตใหม่ที่อุดมบริบูรณ์มากกว่าเมื่อวันที่ “พระแมสสิยาห์จะเสด็จมา”
การกลับใจ เป็นท่าทีที่สำคัญของผู้ที่มีความหวังในพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ที่จะปลดปล่อยเราให้พ้นจากการเป็นทาสของบาปที่นำมาซึ่งความยากลำบากและความตาย เมื่อเรากลับใจเราจะก้าวเดินผ่านจากถิ่นทุรกันดาร ไปยืนอยู่บนผืนแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งอุดมบริบูรณ์ และมีชีวิตใหม่ พี่น้องที่รัก ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงขอย้ำซ้ำๆ อีกครั้งว่า…. จงหันกลับมาที่ตัวเอง…และกลับใจเถิด
- จงอย่าละสายตาไปจากองค์พระผู้เป็นเจ้า
- จงดำเนินชีวิตอยู่ใน “กันดารวิถี” ผูกติดกับธรรมชาติที่ซึ่งเราจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า ดำรงตนอยู่ในความเรียบง่าย ถ่อมตนและรอคอย
- จงใช้ปากสรรเสริญพระเจ้า เอ่ยแต่สิ่งดีงาม ย้ำเตือนตนเองให้ “กลับใจ” และบอกต่อไปยังผู้คนที่ยังไม่เข้าถึงความจริงให้ได้รู้ว่า พระเจ้ากำลังจะมา
- จงหยิบยื่น แบ่งปันสิ่งที่เรากิน สิ่งที่เราดื่ม เพื่อให้พี่น้องรอบข้างเราได้อิ่ม แบ่งปันเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มชิ้นดี เพื่อให้พี่น้องที่ยากจนรอบข้างเราได้ทนุถนอม คลุมกาย เมื่อเราอุ่น พวกเขาก็ได้อุ่นไปด้วย ไม่หนาวเหน็บกายจนหนาวเหน็บใจ
ขอพระเจ้าอวยพระพร…