พระวาจาทั้งสามบทวันนี้ บอกเราเกี่ยวกับ “วันเวลาที่จะมาถึง” ของพันธสัญญาใหม่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงกระทำกับเรา เป็นพันธสัญญาใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ไม่เหมือนกับพันธสัญญาที่พระองค์ทรงทำไว้กับชาวอิสราเอลบรรพบุรุษของเรา ในบทอ่านที่หนึ่ง บอกเราให้เข้าใจว่า “พันธสัญญาใหม่” ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำกับพงศ์พันธุ์อิสราเอล จะเป็นพันธสัญญาที่จะนำมาซึ่งความรอดแก่ “จิตวิญญาณ” สำหรับเราทุกคนผู้เป็นเชื้อสายของพงศ์พันธุ์อิสราเอล ผู้ที่ยอมรับพระองค์เป็นพระเจ้า นอบน้อมเชื่อฟังพระองค์ ผู้ที่รักษาพันธสัญญาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยการยึดมั่น และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติที่พระองค์จะทรงประทานด้วยใจจริง โดยทรงบรรจุธรรมบัญญัตินี้ไว้ภายในตัวเรา ทรงเขียนพระธรรมบัญญัติของพระองค์ไว้ในใจของเรา เพื่อให้เราตระหนักไว้อยู่เสมอว่า พระองค์ทรงทำพันธสัญญากับเรา ทรงเป็นพระเจ้าของเราและเราก็เป็นประชากรของพระองค์ (เทียบ ยรม.31:31-34) ผู้ใดที่ยอมรับเอาธรรมบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าไว้ในจิตใจ ยึดถือและปฏิบัติ เท่ากับรักษาพันธสัญญาของพระองค์ที่ทรงกระทำกับเรา ผู้นั้นจะได้รับความรอดซึ่งไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นในแผ่นดินคานาอันอีกต่อไป แต่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในโลกนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงไม่ทรงประสงค์จะบรรจุพระธรรมบัญญัติไว้ในกลักบรรจุเพียงเพื่อให้เราแบกเดินเข้าสู่แผ่นดินพระสัญญา แต่ทรงประสงค์ให้เราเดินตามธรรมบัญญัติอย่างแท้จริงด้วยการยึดถือปฏิบัติทุกวันตลอดชีวิต จึงทรงบรรจุพระธรรมบัญญัติไว้ภายใน เพื่อจิตวิญญาณของเราจะได้ดำรงอยู่ในสันติสุข และได้รับความรอดอย่างแท้จริง
ในบทอ่านที่สองและในพระวรสาร บอกเราให้ทราบว่า “พันธสัญญาใหม่” ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำกับพงศ์พันธุ์อิสราเอล นอกเหนือจากพระธรรมบัญญัติที่ทรงบรรจุไว้ภายใน และประสงค์ให้เราปฏิบัตินั้น คือ “องค์พระเยซูเจ้า” ผู้ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา เป็นพันธสัญญาใหม่ที่ถูกส่งมาในโลก ทรงอยู่กับเรา อยู่เคียงข้างเรา สอนเรา ปฏิบัติให้เราดูเป็นแบบอย่าง ขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่ จวบจนวาระสุดท้าย เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า ทรงเป็นต้นแบบของผู้ยอมรับเอาธรรมบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าไว้ในจิตใจ ทรงรักษาพันธสัญญาต่อองค์พระเจ้าพระบิดาจึงยอมรับแม้ความตายอย่างน่าอดสู พระองค์คือพันธสัญญาใหม่ ผู้นำมาซึ่งความรอดอย่างแท้จริง และเพื่อมุ่งสู่ความรอด เราจึงต้องผ่านความตายเช่นเดียวกับพระองค์ ทรงตรัสว่า “เมื่อทรงกระทำภารกิจของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็ทรงเป็นผู้บันดาลความรอดพ้นนิรันดรแก่ทุกคนที่ยอมนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์” (ฮบ.5:9)
พระเยซูเจ้าตรัสย้ำถึงชีวิตของพระองค์เองในวันและเวลาที่จะมาถึง เป็นเวลาภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ นั่นหมายถึง ภายหลังจากเวลาแห่งความตายได้ผ่านพ้น ทรงอธิบายโดยเปรียบเทียบชีวิตของพระองค์ กับเมล็ดข้าวที่พร้อมจะถูกเหวี่ยงให้ตกลงไปในดินและตายไป “ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงไปในดินและตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน.12:24) ผู้ที่พร้อมจะสละชีวิตของตนในโลกนี้จะต้อง “ตาย” โดยไม่อาจปฏิเสธได้ พระองค์ทรงชัดเจนว่า “ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” แต่ที่สุด “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (เทียบ ยน.12:27-32) บทอ่านทั้งสามบทในวันนี้ จึงย้ำชัดกับเราถึง “องค์พระเยซูเจ้า” ผู้เป็นพันธสัญญาใหม่ของชาวอิสราเอลและสำหรับเราทุกคน ผู้ทรงพร้อมเสมอที่จะสละชีวิตของตนในโลกนี้
องค์พระเยซูเจ้า “ผู้ทรงตายต่อตัวเอง” ตัวเองที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แต่พร้อมจะสู้ทน ฟันฝ่า เพื่อเอาชนะ พระองค์ตรัสว่า “ใจของเราหวั่นไหว แต่เราจะพูดอะไรเล่า จะพูดหรือว่า ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้ ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามของพระองค์เถิด” พระองค์ไม่ปฏิเสธ “ความกลัว” แต่ทรงตายต่อตัวเอง และใช้หัวใจที่มีไฟรักอันยิ่งใหญ่ และความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาได้รับเกียรติและพระสิริรุ่งโรจน์จากการตายของพระองค์ เอาชนะความหวั่นไหวภายในด้วยการ“โอบรับความกลัว” และ “น้อมรับความตาย”
องค์พระเยซูเจ้า “ผู้ทรงตายเพื่อลบล้างบาปและบันดาลความรอดพ้น” แก่ชาวอิสราเอล และแก่เราทุกคน ชาวอิสราเอลละเมิดพันธสัญญา ไม่เพียงแต่หลงลืม แต่เป็นการละเลยต่อคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าพระผู้สร้าง ละทิ้งพระธรรมบัญญัติ เลือกทำสิ่งตรงข้ามกับที่ธรรมบัญญัติห้ามหรือสั่งสอนให้ยึดถือปฏิบัติ จนเป็นเหตุให้ชีวิตหลงอยู่ในวังวนของบาปและความผิดต่างๆ มากมาย การตายของพระเยซูเจ้า จึงเป็นการตายที่มีเป้าหมายเพื่อลบล้างบาปผิดให้หมดสิ้นและบันดาลความรอดพ้นให้แก่ทุกคนที่ยอมนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์ องค์พระเยซูเจ้า ก่อนทรงสิ้นพระชนม์ ทรงรับทนทรมานและเดินเข้าสู่ความตายพร้อมกับกางเขนอันหนักอึ้งที่ถูกสั่งให้แบกจนถึงยอดเขาที่เตรียมไว้สำหรับตรึงแขวนนักโทษ ถูกตอกตะปูที่มือและเท้าติดกับกางเขน และถูกนำขึ้นตั้งเพื่อให้เห็นเด่นชัด กางเขนและความตายจึงกลายเป็นเครื่องหมายที่ดึงดูดทุกสายตาของผู้คนให้จ้องมองไปยังพระองค์และดึงดูดใจให้ตราตรึงในผู้ที่เห็นคุณค่าของความตายในครั้งนี้ ดังที่ในพระวรสารได้กล่าวไว้ เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา (ยน.12:32) พระองค์ทรงรับแบกบาปของเราไว้ น้ำและพระโลหิตที่หลั่งไหลจากกางเขน ลบล้างบาปผิดทั้งสิ้นแก่ทุกคนที่เชื่อ และบันดาลความรอดพ้นแก่ทุกคนที่เข้าพึ่งพาพระหรรษทานแห่งความรักอันหลั่งไหลมาจากกางเขนที่แขวนตรึงองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงยอมสละชีวิตของตน เพื่อเป็นการชดเชยบาปให้แก่เรา
พี่น้องที่รัก จงยึดมั่นในพระธรรมบัญญัติที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบรรจุไว้ภายใน และเขียนไว้ในใจของเรา ถือปฏิบัติด้วยน้ำใสใจจริง ปล่อยให้พระเยซูเจ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราให้เอาชนะความกลัว ต่อสู้ความบาปผิด ตายต่อตัวเอง เพื่อให้ความตายนี้ เป็นการลบล้าง ชดเชยบาป และบันดาลความรอดพ้นแก่จิตวิญญาณของเราอย่างแท้จริง.