มารีแม่รัก: เพลงวัดไทยเพลงแรกที่ประพันธ์โดยคนไทย
เมื่อวันฉลองวัดของเราที่ผ่านมา หลายท่านอาจคุ้นเคยกับเพลงชื่อ “มารีย์แม่รัก” ซึ่งเป็นเพลงวัดไทยเก่าแก่ และบรรดานักขับร้องก็หยิบมาร้องในโอกาสพิเศษที่ฉลองครบรอบ 100 ปีการถวายประเทศไทยแด่แม่พระนี้
“มารีแม่รัก” เป็นผลงานการประพันธ์ของพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่าง (ค.ศ. 1881 – 1952) ผู้เป็นประมุขสังฆมณฑลจันทบุรีระหว่างปี ค.ศ. 1945-1952 ซึ่งจากเอกสารและคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่หลายท่านนั้นอาจกล่าวได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงวัดภาษาไทยเพลงแรกที่ประพันธ์โดยคนไทย (ก่อนหน้านี้บทเพลงภาษาไทยแปลมาจากทำนองต่างประเทศโดยมิชชันนารีเป็นส่วนใหญ่)
เนื้อเพลงมารีแม่รักที่เราคุ้นเคยกันมาจากหนังสือเพลงไทยคริสตัง (พิมพ์ครั้งแรกปี 1938) หน้า 57 และหนังสือคริสตังร้องเพลง (พิมพ์ครั้งแรก ปี ค.ศ. 1972) หน้า 126 ร้องท่อนแรกว่า “มารีแม่รัก พระทัยดีนักจะหาไหน บรรดาหลบลี้ไปห่างไกล ขอแม่ดลใจให้คืนมา” แต่น่าสังเกตว่าโน้ตเพลงที่บันทึกไว้ในหนังสือคริสตังร้องเพลงนี้ไม่เหมือนกับทำนองที่สัตบุรุษขับร้องกันทั่วไป โดยเฉพาะสัตบุรุษอาวุโสที่วัดนักบุญฟิลิป-ยากอบ หัวไผ่ รวมถึงอีกหลายวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สังฆมณฑลราชบุรี และบางมิสซัง
ไม่นานมานี้ อ. พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้จัดการหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้มอบเอกสารชิ้นหนึ่งให้กับคุณพ่อบุญชรัสมิ์ สุขสว่าง อาจารย์วิชาดนตรีศักดิ์สิทธิ์ วิทยาลัยแสงธรรม เพื่อศึกษาเพิ่มเติม เอกสารชิ้นนั้นเป็นโน้ตเพลง “มารีแม่รัก” เขียนด้วยลายมือ ไม่สามารถระบุผู้เขียนหรือช่วงเวลาของเอกสารได้ แต่ที่น่าสนใจคือโน้ตเพลงที่บันทึกด้วยลายมือนี้ใกล้เคียงกับการขับร้องของสัตบุรุษอาวุโสส่วนใหญ่ อีกทั้งมีคำร้องที่ไม่เหมือนกันในหนังสือเพลงไทยคริสตังและคริสตังร้องเพลง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้ใหญ่หลายท่านว่าก่อนหน้านี้เพลงมารีแม่รักไม่ได้มีคำร้องอย่างที่ร้องกันในปัจจุบัน
หลังจากศึกษาโน้ตเพลงทั้งสองฉบับและขอความเห็นจากนักดนตรีวิทยาที่เชี่ยวชาญหลายท่าน ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าโน้ตที่เขียนด้วยลายมือนั้นเป็นฉบับที่เก่ากว่า แม้หลักการทางดนตรีวิทยาทั่วไปจะให้ยึดโน้ตเพลงฉบับปรับปรุงในการอ้างอิงก็ตาม แต่ในกรณีของบทเพลง “มารีแม่รัก” นี้ยังไม่สามารถหาเหตุผลของการแก้โน้ตเพลงในหนังสือเพลงไทยคริสตังและคริสตังร้องเพลงได้ อีกทั้งคำร้องเดิมก็ไม่ได้ผิดหลักเทววิทยาแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้คำเก่าตามยุคสมัยที่ผ่านไปเท่านั้น ประกอบกับการขับร้องตามโน้ตเพลงฉบับลายมือยังสามารถร้องได้ “เข้าปาก” มากกว่า
ถือเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ที่เราได้ฟังบทเพลงต้นฉบับดั้งเดิมเมื่อวันฉลองวัดที่ผ่านมา
..<ลาซารัส>..